นพ.ประกอบ ลือชาเกียรติศักดิ์ ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2567

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดงานประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 39 ภายใต้หัวข้อ การแพทย์อนาคตไร้รอยต่อ (SEAMLESS FUTURISTIC MEDICINE) ระหว่างวันที่ 7 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยภายในงานนอกจากมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับด้านการแพทย์แล้ว ยังมีการมอบรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติ ที่มอบให้แก่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแพทย์ผู้อุทิศตนและปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนแพทย์และนักศึกษาแพทย์ในการสร้างสังคมคุณธรรม

โดย รศ.พญ.สุภาภรณ์  เต็งไตรสรณ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ประจำปี 2567  กล่าวว่า การคัดเลือกแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปี  ในงานประชุมวิชาการประจำปี คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งการคัดเลือกแพทย์ตัวอย่างในปีนี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่มีความยากลำบากในการตัดสิน เพราะเนื่องจากแพทย์ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกล้วนแต่เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดีเด่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญที่คณะกรรมการกำหนดในการพิจารณาคัดเลือก คือ ต้องเป็นแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี มีการให้บริการอย่างมีคุณภาพและสม่ำเสมอโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้ป่วยและส่วนรวม มีความขยันขันแข็ง มีความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และเลือกใช้หลักวิชาการที่ทันสมัยมาปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนเป็นผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรม จริยธรรม และ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ร่วมงาน  ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้มีการลงพื้นที่ เพื่อพูดคุยและสัมภาษณ์ผู้เข้ารับการคัดเลือก และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการอีกด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกให้  นพ.ประกอบ  ลือชาเกียรติศักดิ์  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมสาขาศัลยกรรม รองผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ ประจำปี 2567

ด้าน นพ.ประกอบ  ลือชาเกียรติศักดิ์  กล่าวว่า ในปัจจุบันโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีมีผู้ป่วยเข้ารับบริการประมาณ 2,800 – 3,000 คน/วัน โดยจะเป็นผู้ป่วยศัลยกรรมประมาณ 500 – 600 คน / วัน  ซึ่งโรคทางศัลยกรรมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคไต  มีผู้ป่วยหลายรายที่ต้องดูแลจนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ผมเข้าใจว่าเป็นผู้ป่วยที่น่าสงสาร ที่ต้องได้รับการดูแล และได้รับการรักษาต่อเนื่องจนกระทั่งเสียชีวิต

ชีวิตการทำงาน

การทำงานของผมเริ่มตั้งแต่การออกตรวจผู้ป่วยนอกเวลา 07.00 น.ตั้งแต่วันแรกของการทำงานจนถึงวันนี้ ผมยังทำงานเหมือนปกติ เพราะมันคือหน้าที่ ที่ผมสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบาย และบรรเทาอาการเจ็บป่วย ผู้ป่วยบางคนบอกว่า ดีใจมากที่มาตรวจแล้วเสร็จตอน 07.30 น. สามารถกลับไปทำงานได้ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีมาก ไม่ต้องลางาน

การทำงานของผม เป็นผลงานที่ทำต่อเนื่องและพัฒนามาเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลา 30 ปีของการรับราชการ ซึ่งหลักๆคือ ผลงานในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง  เรามีการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ จากโรงพยาบาลระดับจังหวัด เป็นระดับเขตสุขภาพ อีกผลงานที่พัฒนาควบคู่กัน คือ การปลูกถ่ายไต และการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีสามารถปลูกถ่ายไตที่บริจาคโดยญาติหรือพี่น้องได้ถึง 19 ราย  และมีทีมที่สามารถไปรับบริจาคอวัยวะในพื้นที่บริการของเขตสุขภาพที่ 11 ได้ทั้ง 7 จังหวัด ซึ่งเราสามารถปลูกถ่ายไตได้สำเร็จเป็นรายแรกของภาคใต้ตอนบน นับเป็นความภูมิใจของทีมทำงาน

ในการทำงาน บุคคลที่ผมยึดเป็นแบบอย่าง คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะตอนที่ท่านทรงงาน แล้วมีพระเสโทหยดบริเวณพระพักตร์ ทำให้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจและทำให้ผมคิดได้ว่า ท่านทรงงานหนักมาก ท่านเหนื่อย เราทำได้ยังไม่ถึงครึ่งของท่านเลย ไม่ถึงหนึ่งในล้านของท่าน ดังนั้นผมจึงคิดว่า ผมเป็นข้าราชการผู้ช่วยเหลือประชาชน ผมยึดคำนี้มาตลอด ทำให้รู้สึกว่าเวลาทำงาน ผมไม่เหนื่อย เพราะเวลาในหลวงท่านทรงงาน ผมยังสู้ท่านไม่ได้เลย อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกคน ให้น้อง ๆ หรือใครที่ทำงานเหนื่อยๆ ลองดูสิ่งที่ท่านทำ มันจะหายเหนื่อยทันที  

สำหรับผมคำว่าหนักและเหนื่อยมันเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราคิดถึงผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วย  เวลาที่หายป่วยเขาจะดีใจมาก มันจึงเป็นความรู้สึกที่ดีของเรา และทำให้คำว่าหนัก คำว่าเหนื่อย มันอาจจะไม่มีอีกเลย”

สำหรับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ที่ได้รับในครั้งนี้  ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจมาก มันเป็นความภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิต จากการทำงานที่เราทำโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ถือว่าเป็นรางวัลที่มีเกียรติและมีคุณค่า ซึ่งการทำให้เกียรติประวัติยั่งยืนอยู่ต่อไป นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ว่าถ้าเรารับรางวัลแล้ว เราจะทำอย่างไรให้สามารถดูแลคนไข้ให้เหมือนเดิม ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นเกียรติยศและชื่อเสียงมากกว่าการได้รับรางวัล ผมต้องขอขอบคุณคณะแพทยศาสตร์ ที่มอบรางวัลนี้ให้กับผมครับ และสิ่งที่ผมอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ว่า  คนที่มาเรียนแพทย์ต้องเข้าใจว่า งานที่เราต้องทำมันจะหนักอยู่แล้ว Mindset ดังนั้น การเป็นแพทย์ต้องรู้ว่า เราต้องเสียสละ  แต่ในความเสียสละ เราต้องรู้จักสร้างความสมดุลระหว่างการดูแลผู้ป่วย สร้างความสมดุลระหว่างการดูแลครอบครัว การดูแลตัวเอง ถ้าทำได้จะทำให้การทำงานและใช้ชีวิตในด้านอื่น สามารถมีความสุขควบคู่กันไปได้อย่างสวยงาม

ด้าน นพ.ปณิธาน  สื่อมโนธรรม  ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี เล่าว่า  เจอกับ นพ.ประกอบ  ลือชาเกียรติศักดิ์  ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ หมอเป็นคนที่มีความขยันขันแข็ง ตั้งใจทำงานในโรงพยาบาล ถ้ามีน้อง ๆ หรือเพื่อนคนไหนอยู่เวรไม่ได้ หมอประกอบจะรับดูแลให้ทั้งหมด ความประทับใจต่ออาจารย์ประกอบมีเยอะมากครับ อย่างแรกคือ ความขยันขันแข็ง ความมุ่งมั่น โดยเฉพาะความมุ่งมั่นในหน้าที่การงาน รู้สึกดีใจมากที่อาจารย์ประกอบได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ เป็นแพทย์คนแรกของรุ่นที่ได้รับรางวัลนี้

โดยผลงานที่โดดเด่นของ นพ.ประกอบ  ลือชาเกียรติศักดิ์ ได้แก่

  • การบุกเบิกและพัฒนาให้โรงพยาบาลในพื้นที่เขตสุขภาพที่  11 เป็นศูนย์ปลูกถ่ายไตได้เป็นแห่งแรก ตั้งศูนย์ปลูกถ่ายไต  
  • ปลูกถ่ายอวัยวะบริจาคในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11  
  • ช่วยพัฒนาให้มีการผ่าตัดในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลท่าช้าง โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์
  • เป็นที่ปรึกษาทีมแพทย์ศัลยกรรม และผ่าตัดผู้ป่วยซับซ้อนโดยไม่จำกัดเวลา
  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เพื่อนร่วมงาน แพทย์รุ่นน้อง โดยมาปฏิบัติงานที่ แผนกผู้ป่วยนอก และแผนกผู้ป่วยใน
  • มาทำงานตั้งแต่ 7.00 น. และรับอยู่เวรอย่างสม่ำเสมอ
  • รับผิดชอบงานดูแลผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ พร้อมจัดทำหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน สาขาศัลยกรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *