หลังคำนิวิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567
‘PSU Broadcast’ สนทนากับ ‘ซากีย์ พิทักษ์คุมพล’ อดีตสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 12 อดีตอาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถึงมุมมองต่อผลกระทบจากการยุบพรรคก้าวไกล ต่อการเมืองและสังคมภาพใหญ่ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Q: มองคำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร? คาดการณ์ไว้แล้วหรือไม่?
ผมไม่เซอร์ไพรส์อยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ทั้งในกรณีของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย จนมาถึงพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล แต่สิ่งหนึ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ ถ้าเราดูประเทศที่มีพัฒนาการของประชาธิปไตยในทางที่ดี การยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นยากมาก เพราะโดยทฤษฎีแล้ว พรรคการเมืองตั้งขึ้นมาด้วยอุดมการณ์ของคนที่มีความคิดทางการเมืองไปในทางเดียวกัน
อย่างประเทศอังกฤษ พรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และ พรรคแรงงาน (Labour Party) ก็เกิดขึ้นมาของชนชั้นระหว่างฐานันดรที่สูงกว่า กับชนชั้นแรงงาน แม้บ้านเราจะไม่ได้มีพรรคการเมืองในลักษณะข้างต้น แต่กรณีของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมีทิศทางใกล้เคียงกับการเป็นพรรคมวลชนและก่อตัวขึ้นมาเพื่อต้องการจัดระเบียบการเมืองของประเทศใหม่
Q: หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 4 ปีก่อน เกิดการเคลื่อนไหวมวลชนระดับใหญ่ ในครั้งนี้มองอย่างไร?
ผมมองว่าการลงถนนเกิดขึ้นได้ยาก อาจมีบ้าง แต่ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา เพราะที่มาของรัฐบาลไม่ใช่การสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร แต่พลังความไม่พอใจตรงนี้อาจถูกเปลี่ยนเป็นการลงคะแนนในการเลือกตั้ง การต่อสู้ทางการเมืองโดยเฉพาะการต่อสู้ในระบบจะมีความเข้มข้นขึ้นและอาจเกิดแรงเหวี่ยงทางการเมือง ท้ายที่สุดเราอาจเห็นผลลัพธ์ในการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นด้วยซ้ำไป
พรรคถูกยุบไป ก็เป็นแค่การเปลี่ยนป้ายร้าน ถ้าคนที่รับไม้ต่อมีอุดมการณ์ไม่ต่างจากอดีตผู้บริหารพรรคก้าวไกล แต่ผมคิดว่ามีเรื่องที่ชนชั้นนำต้องพิจารณา คือ ทำไมแนวนโยบายของพรรคก้าวไกลจึงถูกใจคนจำนวนมากถึง 14 ล้านเสียง ไม่ใช่คนที่เลือกไม่รู้ว่ามีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ที่ผ่านมา เราขีดเส้นกันนักการเมืองและระบบการเมืองออกจากความรู้สึกของการเป็น ‘การเมืองศีลธรรม’ คนมักจะบอกว่าเราเป็นคนดี เราไม่ยุ่งการเมือง เพราะเกี่ยวกับผลประโยชน์ ฯลฯ และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งของการที่สถาบันการเมืองไม่ถูกพัฒนา
พอมาถึงจุดหนึ่ง สิ่งที่ ‘คนรุ่นใหม่’ พยายามทำ ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง คุณต้องเข้ามาอยู่ในระบบการเมือง ไม่ใช่การเมืองของคนดีหรือการเมืองศีลธรรมที่มักจะอยู่นอกระบบ เช่น NGOs การทำงานขับเคลื่อนโดยไม่ได้สนใจการเมือง เป็นต้น
Q: การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่นี้จะส่งแรงกระเพื่อมต่อสถานการณ์ชายแดนใต้มากน้อยขนาดไหน?
สถานการณ์ภาคใต้อยู่ในมือของการจัดการในนาม ‘ความมั่นคง’ ด้วยการใช้นโยบายของทหารนำการเมือง หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาเดิม คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่ปัจจุบันงานเหล่านี้ถูกผ่องถ่ายไปในมือทหาร ทั้ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นส่วนใหญ่
ยิ่งทอดยาวไปสถานการณ์จะไม่เป็นผลดี เพราะทุกคนตกอยู่ในหล่มของอุตสาหกรรมความรุนแรงนี้ แม้แต่รัฐบาลก็ไม่อยากเอาตัวเองเข้ามาผูกโยง เพราะถ้าแก้ปัญหาได้จะเสมอตัว แต่ถ้าแก้ไม่ได้อีกยิ่งเป็นผลลบ เลยปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง ผมคิดว่านี่ไม่เป็นผลดี
การรื้อโครงสร้างทั้งการจัดการองค์กร การรื้อกฎหมายที่เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ หรือโมเดลการบริหารในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีคุณทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นหนึ่งในโมเดลที่น่าสนใจซึ่งควรหยิบกลับมาทบทวนเพื่อให้อำนาจพลเรือนมาถ่วงดุลกับฝ่ายความมั่นคง
เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ
อ่านต่อ
เอกรินทร์ ต่วนศิริ: มอง 10 ปีรัฐประหาร 2557 20 ปี ไฟใต้
เพจ Voice of Padang besar พื้นที่ส่งเสียงคนปาดังฯ วาดอนาคตเมืองชายแดน