อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้จัดแข่งการทำแผนธุรกิจเพื่อนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้จัดแข่งการทำแผนธุรกิจเพื่อนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์2

นักศึกษา 22 ทีมจาก 16 มหาวิทยาลัยเข้าแข่งชิงแชมป์เส้นทางสู่นวัตวาณิชย์ พลิกงานวิจัย ก้าวไกลสู่ธุรกิจ ด้วยแนวคิดนักศึกษา ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน “โครงการเส้นทางสู่นวัตวาณิชย์ ระดับประเทศ ประจำปี 2563” หรือ Research to Market (R2M) ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ เป็นการนำนวัตกรรมจากการวิจัยในแต่ละมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มาจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และส่งเข้าประกวดเพื่อเลือกสรรตัวแทนแต่ละภาคเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศ โดยผู้เข้าแข่งขันจะได้รับประสบการณ์โดยตรง ภายใต้คำชี้แนะของที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์จากภาคธุรกิจในการวิเคราะห์และการตรวจสอบเทคโนโลยีเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่การตลาด โดยให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนำเสนอแนวคิดธุรกิจที่ได้จากการวางแผนเพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นตัวแทนในการแข่งขันในระดับประเทศ

ในปีนี้ มีนักศึกษาผ่านเข้าสู่การแข่งขันระดับประเทศเข้าทั้งหมด 22 ทีมจาก 16 มหาวิทยาลัย ผลการแข่งขันมีทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลการทำแผนธุรกิจจากผลงานวิจัย ดังนี้

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม L’effort จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากผลงานวิจัยเครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกเมล็ดพืช
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม CheckMate จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จากผลงานวิจัย CheckMate แพลตฟอร์ม สำหรับตรวจจับการเป็นสัดในโคนม
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Syntonic จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากผลงานวิจัย Stump Pressure Control (SPC )
  • รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ทีม โอม (Aum) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากผลงานวิจัย Kapillariasis ICT Kit ชุดทดสอบโรคท้องร่วงจากพยาธิ แคปิลลาเรียในคน ทีม 3D Medical จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จากผลงานวิจัยหุ่นจำลองมาตรฐาน 3D Cancer Phantom และทีม Salmon จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากผลงานวิจัย กรรมวิธีการสังเคราะห์ชั้นเคลือบอนุภาคซิลเวอร์นาโนบนพื้นผิวท่อหายใจ