เริ่มแล้ว! ค่ายวิทย์ฯจรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 9 สทป. ร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ มุ่งสร้างนักวิทย์ฯ จรวดรุ่นใหม่

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 9 โดยมีพิธีเปิดในวันที่ 6 มีนาคม 2563 กิจกรรมดังกล่าวจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ด้วยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน โดยเฉพาะความรู้ด้านจรวด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่บุคลากรของ สทป. มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ความรู้ด้านจรวดได้เผยแพร่สู่สังคมให้เป็นประโยชน์และเกิดการพัฒนากว้างขึ้น ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่จัดขึ้น ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ในวันที่ 6-9 มีนาคม 2563 และในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคใต้ได้ร่วมมือกับ สทป. จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และมุ่งหวังให้เยาวชนในภาคใต้ รวมถึงเยาวชนที่สนใจทั้งประเทศเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่

กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ที่ผ่านมา สามารถสร้างความรู้ความสนใจด้านจรวดในหมู่เยาวชนจำนวนมาก เพื่อตอบสนองเป้าหมายการส่งเสริมให้เกิดนักวิจัยรุ่นใหม่ และการพัฒนาจรวดประดิษฐ์เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานที่เป็นประโยชน์กว้างขึ้น โดยปีนี้ใช้จรวดประดิษฐ์ดินขับเชื้อเพลิงแข็งที่ใช้น้ำตาลเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายภาคใต้ โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้และร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การบรรยายความรู้ที่เกี่ยวข้องกับจรวดโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสทป. ในเรื่อง ความรู้ฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับจรวด ความรู้เคมีที่เกี่ยวข้องกับจรวด ดินขับและสารเคมี ปฏิบัติการเคมี หลักการออกแบบจรวดและการสร้างจรวด การแนะนำอุปกรณ์ การออกแบบจรวดประดิษฐ์ และปฏิบัติการออกแบบจรวดประดิษฐ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสทป. และคณะวิศวกรรมศาสตร์
ม.สงขลานครินทร์ ร่วมเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งจะมีการทดสอบผลงานจรวดประดิษฐ์และมอบรางวัลแด่ผู้ชนะ ในพิธีปิดกิจกรรมวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์อีกด้วย

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการ สทป. กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้เรียนรู้เรื่องของจรวด ทั้งเรื่องของการออกแบบ เรื่องของทางอากาศ จุลศาสตร์ เรื่องของปฏิกิริยาทางเคมีของสารเคมีที่ใช้จุดจรวด และนอกจากจะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับจรวดแล้ว ยังสามารถเรียนรู้เรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องได้ด้วย อาทิ เทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งแท้จริงแล้วเทคโนโลยีเรื่องจรวดและดาวเทียม จะเป็นสิ่งที่ต่างกันมากแต่มันไปด้วยกันได้ เพราะว่าเอาจรวดเป็นตัวนำที่จะพาสิ่งต่างๆ ขึ้นไปในอากาศและขึ้นไปได้สูง เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง เพื่อต่อยอดความคิดที่จะทำให้งานหรือการเรียนของประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

และเชื่อมั่นว่ากิจกรรมค่ายตลอด 4 วัน 3 คืน เป็นโอกาสการศึกษาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ดีของเยาวชน ที่จะสร้างเสริมประสบการณ์และสร้างศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชน ส่งผลให้เกิดแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ ในอนาคตและนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย

รองศาสตราจารย์.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ กล่าวว่าเทคโนโลยีเรื่องจรวด เป็นเทคโนโลยีที่นำสมัยและล้ำสมัย ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศที่จะสามารถที่จะทำได้ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ถือเป็นกิจกรรมที่สมควรสนับสนุนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนของประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน และจัดกิจกรรมโครงการค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ในครั้งนี้ ซึ่งมีนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มีจำนวน 52 คน เป็นนักเรียนจากโรงเรียนในภาคใต้กว่า 40 คนและเป็นนักเรียนจากจังหวัดสระสระบุรีอีกส่วนหนึ่ง จึงอยากให้นักเรียนทุกคนที่มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้พัฒนาความรู้ของตัวเองอย่างเต็มที่และเมื่อได้รับประสบการณ์แล้ว ก็อาจจะมีแรงบันดาลใจและสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง และพัฒนาตนเองไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางด้านจรวด หรือเป็นวิศวกรด้านจรวด ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

และในช่วงของการจัดกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 6 – 9 มีนาคม 2563 ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID-19  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สทป. ในนามเจ้าภาพร่วมจัดกิจกรรม ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความปลอดภัยสุขภาพของผู้เข้ามาร่วมกิจกรรม ซึ่งได้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อหรือไม่ให้เกิดการติดเชื้อใดๆ ขึ้นภายในงาน โดยเตรียมทีมพยาบาล ที่มาช่วยดูแล มีการวัดไข้ ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านใส่หน้ากากอนามัย ใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์ และใช้แอลกอฮอล์ฉีดและทำความสะอาดฆ่าเชื้อในทุกกิจกรรมที่ดำเนินการ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งที่เป็นนักเรียน นักศึกษา วิทยากรและเจ้าหน้าที่ทุกคน จะต้องปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและทุกวันตลอดระยะเวลาจัดกิจกรรม จึงขอให้ผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานเข้ามาร่วมโครงการมั่นใจว่าทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทาง สทป. จะดูแลเรื่องของมาตรการป้องกัน COVID-19 อย่างเต็มที่และเต็มกำลัง

นางอริศรา  เพ็ญกิตติ ผอ.ส่วนกิจการพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า ในนามของคณะทำงานจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2563 ต้องขอขอบคุณผู้บริหารทั้งสองฝ่ายที่เห็นถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 9 ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจรวด เสริมสร้างความสนใจในการวิจัยค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีรุ่นใหม่สู่สังคม