รองศาสตราจารย์นายแพทย์พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ข้อมูลว่า คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ได้เปิดรับอาสาสมัคร ทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 58 คน เพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยหลังจากได้รับการรักษาและต้องพักฟื้นร่างกายให้ปลอดภัย ณ โรงพยาบาลสนาม 2 ม.อ. วิทยาเขตภูเก็ต ช่วงเช้าของวันที่ 15 เมษายน 2563 โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องบิน 1 ลำ เที่ยวบิน PG8401 สายการบินบางกอก แอร์เวย์
“เมื่อเดินทางไปยังโรงพยาบาลสนาม 2 ม.อ. วิทยาเขตภูเก็ต วันที่ 15 เมษายน 63 ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่บางส่วนจะทำการเซ็ตระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ ระบบน้ำ-ไฟ เพื่อพร้อมรับผู้ป่วยพักฟื้น ในวันที่ 16 เมษายน 63 ทันที ซึ่งจากการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ จะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จากการคาดการณ์ในภารกิจในครั้งนี้อาจจะไม่ต่ำกว่า 1 เดือน เข้าใจว่าทุกภาคส่วนของการปกครองพยายามจะทำให้ตัวเลขเพิ่มได้น้อยที่สุด หากคนไข้น้อยลงเรื่อยๆ หากเป็นเช่นนั้นก็สามารถถอนตัวทีมเจ้าหน้าที่ชุดนี้กลับได้ ”
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (รพ.สนาม 2) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 140 เตียง โดยมีทีมแพทย์ พยาบาล ให้การดูแลรักษา ทำการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด – 19 ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด เพื่อให้ทุกคนปลอดเชื้อก่อนที่จะกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัวต่อไป นอกจากนี้ ทางคณะทำงานได้นำต้นแบบและประสบการณ์การทำงานที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 (สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) ที่ได้รับการปรับปรุงอย่างเป็นระบบ มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“โดยระบบการจัดการ รวมถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ จะเหมือนกับที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 ณ ศูนย์บ่มเพาะคนดี สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เพียงแต่พื้นที่จะมีแตกต่างกัน โดยที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 (สวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์) เป็นพื้นที่กลางแจ้ง บรรยากาศเหมือนบ้านตากอากาศ อากาศถ่ายเทดี แล้วก็แสงแดดเยอะ แต่ที่โรงพยาบาลสนาม 2 ม.อ.วิทยาเขตภูเก็ต เป็นสถานที่ Sport Complex อาคารศูนย์กีฬา ได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งจะมีการถ่ายเทอากาศได้น้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของระบบการดูแลเป็นไปตามมาตรฐานการให้การรักษาพยาบาลหรือการสัมภาษณ์ผู้ป่วยการวัดชีพจร ความดันการตรวจเชื้อเหมือนกัน ซึ่งรูปแบบการจัดโซนดูแลก็เช่นเดียวกัน คือรูปโซนสีเขียว สีเหลือง และสีแดงแพทย์ พยาบาลที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงจะอยู่ในส่วนสีเหลือง และไม่สามารถออกไปข้างนอก 1 เดือน หากมีความจำเป็นต้องสัมผัสคนไข้ จะต้องใส่ชุดป้องกัน PPE เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในโซนสีแดง เมื่อเสร็จภารกิจก็จะถอดอุปกรณ์ป้องกันต่างๆงไว้ในโซนสีแดง หลังจากนั้นก็สามารถกลับมาพักในโซนเหลืองได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่โซนสีเขียว”
การไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตครั้งนี้ เป็นการทำภารกิจตามปณิธานของมหาวิทยาลัยที่จะทำประโยชน์เพื่อชุมชนโดยเฉพาะภาคใต้ ในยามที่เกิดปัญหาความยากลำบากเช่นวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และเป็นกำลังใจแก่ประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ต โดยคณะที่ไปในครั้งนี้ถือเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยในการส่งกำลังใจไปยังจังหวัดภูเก็ต และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์