ม.อ.ปรับยุทธศาสตร์รับสถานการณ์ในอนาคตหลังวิกฤติ COVID-19


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเสนอการดำเนินงานของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นการประชุมทางไกลโดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน การบริการนักศึกษา คุณภาพของบัณฑิตและการได้งานของบัณฑิต แต่ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมรวมถึงการให้บริการวิชาการสู่ชุมชนและสังคมที่ได้รับผลกระทบ เช่น งานพันธกิจเพื่อสังคม การให้บริการวิชาการ ด้านบริการทางการแพทย์ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ การพัฒนาและยกระดับศักยภาพการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมแก้ปัญหาการระบาดของโรคของวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีการปรับแผนใน 4 ยุทธศาสตร์เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต ทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่มจากงานวิจัยและนวัตกรรม เน้นสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ การศึกษาผลกระทบและการแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม สุขภาพ ยุทธศาสตร์พันธกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สังคมชุมชนในเรื่องเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การเพิ่มการจ้างงานให้กับชุมชนภายใต้ภารกิจของมหาวิทยาลัย และ ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทาง Digital ของทุกวิทยาเขต พัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรให้สามารถทำงานทุกพื้นที่ทุกสถานการณ์

กรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ชื่นชมบทบาทและศักยภาพของมหาวิทยาลัย ที่พร้อมต่อการรับมือการระบาดของโรค COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นต้นแบบในการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเรื่องความปลอดภัยในชีวิต การสร้างภูมิคุ้มกันจนได้รับการยกย่องทั่วประเทศ มีบุคลากรจิตอาสาที่ทำงานเชิงรุกเพื่อสนองพันธกิจต่อสังคมและสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่ให้นึกถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์มากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

การระบาดของโรค COVID-19 เป็นเหตุการณ์ที่จะไม่จบลงในระยะเวลาอันสั้น เรื่องใหญ่ที่จะตามมาคือการเกิดผลกระทบเชิงสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การได้งานทำของบัณฑิต ซึ่งการบริหารจัดการให้กลับสู่สภาวะปกติอาจต้องมีการทบทวนหลายยุทธศาสตร์ท่ามกลางข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ผลกระทบด้านงบประมาณที่ลดลง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะต้องมีส่วนช่วยคิดวิธีการใหม่ๆ ที่จะพัฒนาประเทศหลังวิกฤตินี้เบาบางลง เพราะเรามีจุดแข็งที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศในเรื่องสำคัญ คือ อาหารและการเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ และ เรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องมองไปข้างหน้าถึงวิธีการที่จะช่วยสังคม โดยเฉพาะจังหวัดในภาคใต้หลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนที่ต้องเป็นการผสมผสานกันระหว่างการสอนแบบออนไลน์ การสอนในชั้นเรียนและการฝึกทักษะเพื่อเข้าสู่การทำงานในอนาคต โดยนอกจากจะปรับรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแล้ว เรายังสามารถช่วยพัฒนารูปแบบการสอนสู่การสอนของโรงเรียน โดยอาจใช้รูปแบบการสอนทางไกล ของโรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ เป็นต้นแบบสำหรับโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อม และพัฒนาเพื่อเสริมการเรียนรู้ให้คนวัยทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติการระบาดของโรคซึ่งสร้างปัญหาให้ทุกภาคส่วนทั่วโลกในวันนี้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในอนาคตซึ่งทุกคนต้องปรับตัว อาจเป็นโอกาสสำหรับหลายฝ่ายรวมทั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งที่ก่อนหน้านี้ถูกจำกัดโดยระบบแบบเดิม เช่น ปรับรูปแบบการศึกษาแนวใหม่ที่สมบูรณ์แบบมีคุณภาพดีกว่าเดิม และสามารถพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรามีโอกาสแสดงศักยภาพในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อการนำร่องโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติภูเก็ตที่มีแผนไว้แล้ว ซึ่งถ้าโครงการนี้ได้ดำเนินการเต็มรูปแบบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะสามารถปักธงด้านสุขภาพในพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก และสามารถนำข้อมูลที่ได้รับการกลั่นกรอง การสังเคราะห์อย่างเป็นระบบและแม่นยำสู่การวิจัยเชิงลึก และสามารถให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้บริหารเพื่อการแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ