มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ “กลุ่มช่วยกัน” แถลงข่าวการรวมพลังคนไทย ฝ่าวิกฤตโควิด 19 พร้อมเปิดตัว “กลุ่มช่วยกัน” “แอปหมอชนะ” และ “ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 Rapid Test” เพื่อขับเคลื่อนแผนแบบบูรณาการ ป้องกัน ควบคุม เยียวยา ช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีจังหวัดฉะเชิงเทรานำร่อง ก่อนขยายไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการขยายผลต่อไปยัง 14 จังหวัดภาคใต้ต่อไป
สำหรับการแถลงข่าวการรวมพลังคนไทย ฝ่าวิกฤตโควิด 19 พร้อมเปิดตัว “กลุ่มช่วยกัน” “แอปหมอชนะ” และ “ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 Rapid Test” โดยมีนายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา, คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มช่วยกัน” และ ดร.ประพล มิลินทจินดา รองประธานกรรมการสถาบันวิจัยพัฒนาเศรษฐกิจและการพาณิชย์ (IBERD) ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมแถลงข่าวผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการร่วมมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มช่วยกัน และเครือข่ายภาคี ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเข้มแข็ง ทั้งในส่วนการสนับสนุนเวชภัณฑ์ การอำนวยความช่วยเหลือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มห้องปลอดเชื้อในเขต ซึ่งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สร้างสรรค์ผลงานแก้ไขปัญหาภายใต้การสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายที่ดีทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถผลิต ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ได้สำเร็จ รวมไปถึงการส่งเสริมและผลักดันการใช้ “แอปพลิเคชันหมอชนะ”ในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้กล่าวถึง“กลุ่มช่วยกัน” เป็นความร่วมมือจากพันธมิตร ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาในรูปของกลุ่มอิสระโดยไม่หวังผลประโยชน์ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น แต่จะสนับสนุนและส่งเสริมโครงการดีๆ ที่มีผู้อื่นทำอยู่แล้ว โดยได้วางกลยุทธ์การดำเนินโครงการไว้หลายด้าน เช่น ด้านการเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การจะติดตั้งเครื่องกำจัดไวรัสแก่โรงพยาบาล ปรับปรุงห้องผู้ป่วยติดเชื้อ ปรับปรุงอาคารที่พักนอกโรงพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง ปรับปรุงรถพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ เป็นต้น
ด้านเทคโนโลยีเพื่อการป้องกันติดตามและประเมินความเสี่ยงของประชาชน โดยใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เป็นเครื่องมือที่จะอยู่ในโทรศัพท์มือถือของประชาชนทุกคน ที่จะทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนั้นรู้ความเสี่ยงของตัวเอง มีระบบเตือนผู้ใช้และให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เชื่อถือได้ โดยใช้จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งถือเป็นต้นแบบนำไปสู่การสร้าง “EEC โมเดล” ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของประเทศทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถคืนกลับมาสู่การดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย ผู้ที่สนใจสามารถติดตามโครงการต่างๆ ของ “กลุ่มช่วยกัน” หรือเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.chuaygun.com และ facebook กลุ่มช่วยกัน
“ อีกทั้งร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง และสามารถผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ในต้นทุนการตรวจที่ต่ำ ทำให้สามารถนำชุดตรวจโควิด-19 มาใช้ตรวจสอบยืนยันโรคได้มากขึ้น จึงช่วยให้รู้สถานการณ์ที่แท้จริงของโรคได้และจัดการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ”
สำหรับชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 Rapid Test โดยการตรวจหา immunoglobulin ทั้งชนิด IgM และ IgG ที่จับจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อ COVID-19 เป็นประโยชน์ต่อทั้งการตรวจการติดเชื้อในเบื้องต้นและตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชุดตรวจนี้ใช้หลักการ immunochromatography (ICT) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจ ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15 นาที มีความไวและความจำเพาะสูง มีความคงตัวสูงสามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัม ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก อีกทั้งผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสามารถตรวจได้ที่บ้าน (โดยการแปลผลการทดสอบควรได้รับคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์)