สงขลานครินทร์ พัฒนาระบบและหุ่นยนต์ขนส่งตรวจวัดไข้ “ADA Robot” สนับสนุนการทำงานของแพทย์ ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน พัฒนาระบบและหุ่นยนต์ขนส่งตรวจวัดไข้ “ADA Robot” ควบคุมจากระยะไกลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และเครื่องวัดอุณหภูมิระยะไกลด้วย IF อินฟราเรด สนับสนุนการทำงานของแพทย์ เพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ณ ศูนย์กักตัว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

แลบ้านแลเมือง เรื่อง สงขลานครินทร์ พัฒนาระบบและหุ่นยนต์ขนส่งตรวจวัดไข้ “ADA Robot” ให้สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

จากกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้ต้องกัก ณ ศูนย์กักตัว ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ทำให้หลายหน่วยงานยินดีร่วมมือให้ความช่วยเหลือ พร้อมวางระบบการทำงานร่วมกันทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งในภาครัฐนำโดยทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนภาคีที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ รับหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการ ผู้ป่วยซึ่งพักรักษาตัวอยู่ในศูนย์กักตัว โดยรศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และรศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ด้าน โรคติดเชื้อ ได้มีการประสานงานกับ ดร.นพ.ธรรมสินธ์ อิงวิยะ และดร.นพ.ชนนท์ กองกมล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ข้อมูลทางการแพทย์เพื่องานวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันวางแผนและกำหนดแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อ ให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยของบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่

โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์ดังกล่าว ทางโรงพยาบาลและศูนย์กักตัวได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ที่เอื้อต่อการทำงาน จากสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU DRii) ที่ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (AIS) และ บริษัท อาดูโน่ไทย จํากัด (Arduino Thai) พัฒนาหุ่นยนต์ควบคุมจากระยะไกลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือ เรียกสั้นๆว่า “ADA Robot” โดยผู้คิดค้นได้ออกแบบพัฒนาหุ่นยนต์ให้เจ้าหน้าที่สามารถบังคับจากระยะไกลได้จากทุกสถานที่ เพื่อลําเลียงอาหารและยาตามเส้นทางที่ต้องการ ซึ่งบนตัวหุ่นยนต์ได้ติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารเพื่อให้แพทย์และผู้ป่วย พูดคุยกันได้ทั้งภาพและเสียง พร้อมระบบตรวจวัดอุณหภูมิของคนไข้ ทั้งนี้หุ่นยนต์ขนส่งและตรวจวัดไข้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถสังเกตและประเมินอาการของผู้ป่วยได้จากระยะไกล ลดโอกาส การสัมผัสและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทําให้ทีมแพทย์ พยาบาล สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ดร.ชิตนนท์ บูรณชัย และคณะจากศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการวิเคราะห์สารปริมาณน้อยและไบโอเซนเซอร์ หรือ TAB-CoE ด้วยการพัฒนาเครื่องวัดอุณหภูมิระยะไกลด้วยแสงอินฟราเรด โดยใช้บัตรที่มีเทคนิคการระบุข้อมูลสิ่งต่างๆ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งการทำงานของเครื่อง คือ ผู้ป่วยสามารถเดินเข้าไปหาเครื่อง โดยทิ้งระยะห่างประมาณ 2 – 4 เมตร เซ็นเซอร์ของเครื่องจะทำงานโดยส่งสัญญานไปยังเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้อินฟราเรด และแสดงผลบนหน้าจอเครื่องวัด ผู้วัดสามารถอ่านค่าอุณหภูมิร่างกายได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าว ยังได้รับการพัฒนาจากสถาบันวิศวกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โดย อ.ดร.อภิชาติ ขวัญเยื้อง และ อ.ดร.สิทธิโชค ไชยชูลี ในการคิดค้นวิธีการส่งข้อมูลหรือผล การวัดไข้ให้สามารถแสดงผลและส่งผลผ่านระบบออนไลน์ไปยังทีมรักษาผู้ป่วยในได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้ระบบดังกล่าวได้นำมาใช้งาน ณ ศูนย์กักตัวฯ และมีแนวทางที่จะพัฒนาระบบดังกล่าวต่อไป