คุณเคยมีอาการใจเต้นแรง ใจเต้นรัว กังวล กลัว ควบคุมตนเองไม่ได้ … แพนิคหรือเปล่า?
โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือ “อาการตื่นตกใจกลัวอย่างรุนแรง” เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก และบางครั้งผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดก็อาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าอาการที่แสดงออกมานั้นเป็นอาการของโรคแพนิค ผู้ป่วยโรคแพนิคจะตื่นตระหนกต่อบางสิ่งบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้น จะต่างจากความรู้สึกหวาดกลัว หรือความวิตกกังวลทั่วไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง หรือดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้
“ อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงเป็นลักษณะเด่นของโรคแพนิค ซึ่งจะรุนแรงกว่าความรู้สึกกังวลหรืออาการเครียดทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่นาที แต่ก็อาจกลับไปเป็นอีกภายในไม่กี่ชั่วโมง ”
ผู้ป่วยโรคแพนิคจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกอย่างไม่มีสาเหตุ เกิดขึ้นกะทันหัน รวมทั้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แพนิคเป็นอาการที่รุนแรงกว่าความรู้สึกเครียดทั่วไป มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 10-20 นาที บางรายอาจเกิดอาการแพนิคนานเป็นชั่วโมง โดยผู้ป่วยโรคแพนิคจะเกิดอาการ ดังนี้
- ใจสั่น ใจเต้นแรง แน่นหน้าอก
- เหงื่อออกมาก หนาวๆ ร้อนๆ
- หายใจถี่ หายใจตื้น หายใจไม่อิ่ม
- วิงเวียน โคลงเคลง รู้สึกตัวลอย คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย
- ควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้
ผู้ป่วยสามารถลดความเครียด ความวิตกกังวลของตนเองได้ ด้วยการฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติ นอกจากนี้ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผ่อนคลายจากความเครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ
แม้ว่าโรคแพนิคจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกคือการไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรักษาได้ด้วยการทานยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ เนื่องจากโรคแพนิคอาจมีอาการคล้ายคลึงกับกลุ่มโรควิตกกังวลอื่นๆจึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจกับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูล : กรมสุขภาพจิต, HD สุขภาพดี เริ่มต้นได้ที่นี่