เสียงสัมภาษณ์โดย รศ.ดร อนุรักษ์ สันป่าเป้า คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง “โรคใบร่วงยางพารา” ในรายการแลบ้านแลเมือง
จากสถานการณ์การระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่เริ่มสำรวจพบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ในไทยพบระบาดครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และยังพบในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ยะลา ตรัง พังงา ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ และสตูล มีรายงานความเสียหายจากโรคใบร่วงยางพารามากกว่า 100,000 ไร่ โรคนี้สามารถพบได้ในยางพาราตั้งแต่ระยะต้นกล้าในแปลงเพาะชำจนถึงระยะในแปลงทุกช่วงอายุ สายพันธุ์ที่พบเป็นโรค ได้แก่ สายพันธุ์ RRIM 600, RRIT 251,PB 235 และ PB311 ซึ่งเข้าทำลายส่วนต่าง ๆ ของต้นยาง ได้แก่ ฝัก ใบ กิ่งก้าน และหน้ากรีดยาง ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำ ค้างอยู่บนต้น ไม่แตก และร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งพักตัวของเชื้อ และที่สำคัญ ผลผลิตยางจะเริ่มลดลง
ทีมวิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ.ดร อนุรักษ์ สันป่าเป้า ผศ.ดร.ชนินันท์ พรสุริยา ผศ.ดร.ธนัญชนก ไชยรินทร์ และ ผศ.ดร.นริศ ท้าวจันทร์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการระบาดของโรคชนิดนี้ได้ลงไปสำรวจ และเก็บตัวอย่างโรคใบร่วงยางพาราในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มาวินิจฉัยถึงสาเหตุโรคที่แท้จริง
ผศ.ดร.นริศ ท้าวจันทร์ อาจารย์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งและทีมนักวิจัยเรื่องดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลว่า “จากข้อมูลของการยางแห่งประเทศไทย พบว่ามีการระบาดของโรคใบร่วงยางในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับต้นยางพาราอย่างเห็นได้ชัด คือ ใบจุดแผลขนาดใหญ่ และทำให้เกิดใบร่วงทั้งต้น ส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตน้ำยางพารา และมีแนวโน้มการขยายพื้นที่ใหม่ไปเรื่อย ๆ สำหรับภูมิภาคอื่น ๆ มีรายงานว่าเจออาการของโรคบ้าง แต่ยังคงต้องตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้ง และคาดว่ามีโอกาสแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นได้ หากไม่มีการจัดการอย่างถูกต้องและเหมาะสม
สำหรับเชื้อโรคที่พบในประเทศไทยนั้น ทีมวิจัยสามารถแยกเชื้อและระบุชนิดเชื้อสาเหตุโรค ด้วยการใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาและเทคนิคทางอณูชีววิทยาขั้นสูง โดยศึกษาถึงลำดับ DNA ของเชื้อรา และเทียบเคียงฐานข้อมูลนานาชาติ จนสามารถระบุชนิดเชื้อราที่ถูกต้องได้ จากผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า โรคใบร่วงยางพารา เกิดจากเชื้อราในสกุล Neopestalotiopsis จำนวน 2 ชนิด คือ Neopestalotiopsiscubana และ N. formicarum ซึ่งนับเป็นรายงานแรกของโลกที่รายงานว่าเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ ก่อให้เกิดโรคดังกล่าว และเนื่องจากเป็นโรคที่อุบัติใหม่ แนวทางการป้องกันยังไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ว่าโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อใด แต่สิ่งที่กังวลคือการเข้าทำลายพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ดังนั้น การที่เราระบุชนิดของเชื้อราให้ถูกต้องก็จะสามารถหาแนวทางการควบคุมที่เหมาะสมได้”
โดยงานวิจัยนี้ได้รับการตอบรับตีพิมพ์ลงในวารสารทางด้านโรคพืชระดับนานาชาติ และขณะนี้ทีมวิจัยได้พยายามศึกษาสารเคมีกำจัดเชื้อราที่มีในประเทศมาใช้งาน เพราะโรคดังกล่าวเป็นกลุ่มของเชื้อราโรคพืช ดังนั้น สารเคมีกำจัดเชื้อราที่มีขายในท้องตลาดบางชนิดสามารถควบคุมได้ ทั้งนี้ ดร.นริศ ยังให้คำแนะนำเบื้องต้นโดยให้ใช้สารเคมีกำจัดเชื้อราประเภทดูดซึมชนิด cabendazim และสารเคมีประเภทสัมผัสชนิด captan, mancozeb หรือ propineb โดยใช้ตามอัตราแนะนำที่ระบุไว้ ในเบื้องต้นสารดังกล่าวสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราโรคพืชชนิดนี้ได้ โดยไม่ต้องนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศที่มีราคาแพงและอาจมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน และในอนาคตทีมวิจัยต้องการศึกษาการใช้สารดังกล่าวในสภาพแปลงจริง เพื่อหาคำแนะนำที่ถูกต้องสำหรับเกษตรกรในอนาคตต่อไป
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชานวัตกรรมการเกษตรและการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โทรศัพท์ 0-7428-6100