มาตรการช่วยเหลือ นศ. ในสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การเรียนการอยู่และใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยจะช่วยพัฒนาตนเองในสังคม แต่ COVID-19 คือความท้าทายในการปรับตัว

“ชีวิตที่มีปัญหาหากเรามีสติและสามารถผ่านไปได้จะเป็นต้นทุนการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ คนเราจะพัฒนาไปได้ต้องคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ๆ  ผู้ที่เกิดมาท่ามกลางความสะดวกสบาย มีผู้คอยช่วยเหลือโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวเอง อาจจะพบความลำบากในวันข้างหน้า … ชีวิตในช่วงโควิดก็เช่นเดียวกัน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพจน์ โกวิทยา
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมากและเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษา เป็นหน้าที่ของฝ่ายกิจการนักศึกษาที่ต้องดูแลเรื่องนี้

การระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและกระทบกับแทบทุกภาคส่วนในทุกประเทศในโลก รวมทั้งในการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ซึ่งแม้ว่าเราไม่มีโอกาสทราบได้ว่าการระบาดของโรคนี้จะมีไปอีกนานเท่าใด แต่อย่างน้อยในภาคการศึกษาแรกของปีการศึกษา 2563 มีโจทย์ให้มหาวิทยาลัยต้องคิดไปข้างหน้าถึงการกำหนดแนวปฏิบัติในการระวังป้องกัน ตั้งแต่การจัดปฐมนิเทศที่จะไม่ได้เป็นรูปแบบกิจกรรมการรวมกันของคนกลุ่มใหญ่ มีการเตรียมเพื่อการปฐมนิเทศออนไลน์  จะไม่มีภาพของการเดินทางไปมาระหว่างหอพักและชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเพื่อมายังอาคารเรียนเหมือนปีที่ผ่านมา  มีการจัดทำเป็นมาตรฐานทางสาธารณสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเชิญอาจารย์แพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการป้องกันการระบาดของโรคมาปรึกษา เพื่อจัดระเบียบและระบบป้องกันในการเข้าพักในหอพัก จำนวนผู้เข้าพักต่อห้อง การจัดระเบียบร้านค้า ร้านอาหาร การจัดกิจกรรมในช่วงเปิดภาคการศึกษา

“เรื่องหอพักนั้น ฝ่ายจัดการเรียนการสอนกับฝ่ายจัดหอพักต้องมาคุยร่วมกัน เพราะบางสาขาวิชาสามารถเรียนจากที่บ้านได้ แต่ในส่วนที่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนและพักในในมหาวิทยาลัยจะต้องมีการทราบจำนวนเพื่อจะได้มาจัดระบบหอพัก ดังนั้นที่คิดไว้แต่เดิมว่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะมาเข้าหอพัก 1 สัปดาห์ก่อนเปิดภาคเรียนในวันที่ 13 กรกฎาคม ก็คงมีการเปลี่ยนแปลง  เพราะนักศึกษาจาก 34 คณะใน 5 วิทยาเขต อาจจะต้องมาสลับกันเรียนในวิทยาเขตในบางวิชา และมีบางช่วงเวลาที่ศึกษาที่บ้าน  จะไม่มาพักหอพักตลอดภาคเรียนเหมือนเมื่อก่อน”

รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ กล่าวว่า ปกติทั่วไปคนเราจะชอบสังคมและการพบปะกันหารือกันอย่างใกล้ชิด  แต่การเรียนที่จากบ้านเป็นการเรียนรู้คนเดียวโดยการใช้โซเชียลมีเดียซึ่งจะขาดการปฏิสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ซึ่งการเรียนรู้ที่สำคัญไม่ได้เป็นการหาความรู้ทางวิชาการอย่างเดียว แต่จะต้องมีการเรียนรู้เรื่องการปรับตัว การปรับความคิด การทำงานร่วมกัน ดังนั้นวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมีความสำคัญมาก  ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่เป็นการพักด้วยกัน การร่วมรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การทำงาน ทำกิจกรรม นันทนาการร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตนเองซึ่งยังอยากเห็นบรรยากาศเช่นนี้อยู่ แต่ปีการศึกษานี้เป็นกรณีพิเศษและเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตนักศึกษาที่พบอุปสรรคที่ต่างจากรุ่นอื่นๆ