ความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบเป็นตัวการสำคัญให้วัยทำงาน เกิดภาวะ “BURNOUT SYNDROME” หรือ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” ซึ่งหากปล่อยไว้สะสมนานวันเข้าอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้
สาเหตุของภาวะ BURNOUT SYNDROME มาจากอะไร ?
กลุ่มอาการ BURNOUT SYNDROME มักเกิดจากงานที่ทำ เช่น ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ มีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ขาดอำนาจในการตัดสินใจ ทำงานที่ไม่ถนัด ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวคนเดียวโดยขาดที่ปรึกษา รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีมไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป มีปริมาณงานไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากร ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
ใครบ้างที่เสี่ยง BURNOUT SYNDROME ?
กลุ่มวัยทำงาน หนุ่มสาวออฟฟิศ หรือหัวหน้า ผู้บริหารที่ที่แบกรับหน้าที่หนักจนเกินไป แต่แท้จริงแล้วกลุ่มอาการ BURNOUT SYNDROME สามารถเกิดได้ทุกวัย ทุกเพศ เช่น แม่บ้านที่ต้องดูแลบ้าน เลี้ยงลูก ที่ใช้ชีวิตอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ต้องวุ่นวายกับงานบ้าน ทำอาหาร ดูแลครอบครัวแบบไม่มีวันหยุด รวมไปถึงเป็นคนที่จริงจังเกินไป ขาดความยืดหยุ่น งานทุกชิ้นต้องดี ไม่มีที่ติ ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ความคาดหวังสูง ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และพยายามควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามต้องการ สามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน
BURNOUT SYNDROME กับวิธีป้องกัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา อย่าเสียเวลาไปกับความกังวลในเรื่องงานของคุณ และพยายามพัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ
- ลดความเครียดลง โดยการหากิจกรรมทำนอกเวลา ฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกาย เป็นไปได้ลาพักร้อนเป็นระยะเวลาสั่นๆ
- ปรับทัศนคติในการทำงาน ทำความเข้าใจในเนื้องาน และองค์กรที่ทำงานด้วย
- เปิดใจให้กับคนรอบข้าง อย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน
- พยามหลีกเลี่ยงกับคนที่มีความคิดในแง่ลบ ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน
“แม้ภาวะหมดไฟในการทำงานจัดอยู่ในกลุ่มอาการ ไม่รุนแรงถึงขึ้นโรคซึมเศร้า เพียงแต่เป็นอาการเบื่องาน หมดแรงจูงใจ แต่เมื่อใดที่รู้สึกอึดอัด หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า และควรปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็ว”
ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต โทร. 1323