ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากยาง : แนวทางในการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร

“เมื่อก่อนราคายางพาราขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ไม่กี่ชนิด เช่น ยางรถยนต์ หรือถุงมือยาง การจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพคือการสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ เช่น ทำเป็นแบริเออร์ เสาหลักนำทาง ยางปูสระ และผลิตภัณฑ์ของใช้ เป็นต้น เราจะต้องกระจายฐานของตัวผลิตภัณฑ์ให้กว้างขึ้น”

 รศ อาซีซัน แกสมาน

รองศาสตราจารย์อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นหน่วยงานที่ใช้ความรู้ทางวิชาการผลิตนวัตกรรมที่มาจากการแปรรูปยางพารามาเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคายางตกต่ำโดยขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยนวัตกรรม โดยการแปรรูปยางพารามาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ  เป็นหนึ่งในโครงการจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางพาราและช่วยยกระดับราคาผลผลิตให้กับเกษตรกร  ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ลงนามความร่วมมือกับกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ ผู้สนับสนุนโครงการจากจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563


โดยธรรมชาติของยางเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติดีมาก มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับแรงกระแทกอยู่แล้ว ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เพื่อลดความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงนำมาเข้ากระบวนการวิจัย เพื่อจัดทำเสาหลักนำทางยางพารา และ ยางหุ้มแบริเออร์ โดยมีการควบคุณคุณภาพ และประเมินสภาพการใช้งานได้เพื่อให้มีคุณภาพดีขึ้นใช้งานได้นานขึ้น โดยประสานงานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างคณะหน่วยงานต่างๆ ในหลายวิทยาเขต ทั้งในส่วนการวิจัยและการถ่ายทอดให้กับสถาบันเกษตรกร  และผ่านการตรวจสอบคุณภาพทั้งจากสถาบันตรวจสอบภายในประเทศและต่างประเทศ

ในด้านการตรวจสอบคุณภาพผลิตนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อนำมาพัฒนาเป็นศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์จากยางพารา สังกัดสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีคุณภาพ เป็นที่พึ่งของอุตสาหกรรม เกษตรกร นักวิจัย มีการให้บริการด้วยเครื่องมือคุณภาพสูง เพื่อยกระดับงานวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยและบริการทดสอบผลิตจากยางพาราแก่ภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน

“นวัตกรรมคือหนทางสำคัญในการเพิ่มมูลค่า การสร้างความหลากหลายของตัวผลิตภัณฑ์ เพราะยางพารานำไปทำผลิตภัณฑ์ได้จำนวนมาก เช่นในสถานการณ์การระบายของเชื้อโรคโควิด 19 มีการผลิตภัณฑ์จำนวนมากจากยางพารามาช่วยในการป้องกันการกระจายของเชื้อโรค โดยเชื่อมโยงกับทางการแพทย์ สุขภาพ การกีฬา การขนส่ง งานโครงสร้างอาคาร การเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังคงให้ความสำคัญกับยางพาราในทุกกระบวนการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเพราะมีที่ตั้งของ 5 วิทยาเขตอยู่ในภาคใต้ ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้มีอยู่พร้อมในมหาวิทยาลัย เพียงแต่นำมาเชื่อมประสานให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น”