ม.สงขลานครินทร์ คิดค้นอุปกรณ์หนุนสะโพกจากยางธรรมชาติ สร้างความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนนักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์หนุนสะโพก จากยางธรรมชาติ  ประกอบด้วย แผ่นหนุนสะโพก และ ชุดหนุนสะโพกทำด้วยผ้ายืด ออกแบบเป็นเข็มขัดรัด สามารถลดแรงกระแทกได้ถึง ร้อยละ 37 มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อสะดวกต่อทุกสถานที่ในการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถปรับได้ตามต้องการ ผลงานได้รับมาตรฐาน มอก. ๒๙๕๘-๒๕๖๒  และได้รับอนุสิทธิบัตรการออกแบบ และกระบวนการผลิต (หมายเลข 1703000630 และ 1703000631)

“ปัญหาที่พบบ่อยกับผู้สูงอายุ คือกระดูกสะโพกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุน  และร้อยละ 90 ของกระดูกสะโพกหักมาจากการหกล้ม ทำให้เกิดการกระแทกไปยังบริเวณกระดูกสะโพก และทำให้กระดูกแตกหรือหัก มีความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต และไม่สามารถลุกยืนหรือเดินได้ ประเทศไทย มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ประมาณ 15 ล้านคน  คาดว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ส่วนกระดูกสะโพก ประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นประชากรหญิงประมาณ 1 ล้านคน และประชากรชายประมาณ 7 แสนคน และคาดการณ์จำนวนผู้ที่มีกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนของโลก จะมีจำนวน 4.5 ล้านคน ในปี พ.ศ.2593”

รศ.ดร.วิริยะ ทองเรือง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าโครงการแผ่นหนุนสะโพกจากยางพารา  กล่าวว่า อุปกรณ์ป้องกันการกระแทกของสะโพกซึ่งมีราคาถูกกว่าการรักษาหรือผ่าตัด ก่อนที่จะเกิดการหกล้มเพื่อไม่ให้กระดูกสะโพกหัก ซึ่งจะช่วยป้องกันผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจากกระดูกหักหรือแตกจากการหกล้มได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย

นอกจากผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุนและกระดูกบาง รวมไปถึงผู้ป่วยกระดูกหักที่เคลื่อนไหวไม่ได้ที่มีจำนวนมากและเสี่ยงกับภาวะแผลกดทับ ทีมนักวิจัยจึงพัฒนาแผ่นยางกันกระแทกดังกล่าวขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ เป็นการนำเอา “ยางพารา” มาทำให้เกิดเป็นมูลค่าทางการตลาดที่สูงขึ้นอีกด้วย