7 วิธีปลดล็อกปัญหาที่มักเกิดกับนักปลูกไม้ใบมือใหม่ที่แก้ง่าย แก้ได้ด้วยตัวเอง

หลายต่อหลายคนเพิ่งมีโอกาสได้ลงมือปลูกต้นไม้ในบ้านเป็นครั้งแรก และเมื่อเวลาผ่านไปสักเดือนสองเดือน ก็พบกับปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ เราก็เลยรวมปัญหายอดฮิตที่เกิดขึ้นกับนักปลูกไม้ใบมือใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มาแนะนำว่าควรจะแก้ไขอย่างไร

1. ใบอ่อนช้ำ

ปัญหายอดอ่อนที่ยังเป็นใบซึ่งม้วนอยู่ช้ำเป็นรอยสีน้ำตาลนั้น เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ สาเหตุแรกคือ การวางต้นไม้ในห้องแอร์ ซึ่งช่วงกลางวันเราอาจจะไม่ได้อยู่บ้าน อากาศในห้องจึงร้อนอบอ้าวและไม่ถ่ายเท พอเรากลับบ้านมาแล้วเปิดแอร์เย็นฉ่ำทันที ต้นไม้อาจจะปรับตัวไม่ทัน ทำให้ใบอ่อนซึ่งยังไม่แข็งแรงมีอาการช้ำ

ทางแก้ก็คือ พยายามทำให้อากาศในห้องในช่วงกลางวันที่ไม่ได้เปิดแอร์ไม่ร้อนอบอ้าวมาก หรือนำต้นไม้ออกไปวางในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ส่วนใบที่ช้ำไปแล้ว จะขยายใหญ่ขึ้นโดยที่รอยช้ำยังคงอยู่ ซึ่งไม่มีอันตรายกับต้น แต่ถ้าอาการหนักจนไม่สวย ก็ตัดทิ้งได้

อีกสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือ รดน้ำเยอะเกิน จนมีน้ำปริมาณมากขังในกระถางเป็นเวลานาน ทำให้ระบบรากเน่า จนออกอาการที่ใบ ทางแก้ก็คือ รดน้ำเมื่อวัสดุปลูกแห้ง ถ้าปลูกในห้องแอร์รดสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้งก็พอ

2. ใบไหม้

ในช่วงที่อากาศร้อนมากๆ เมื่อเดือนที่แล้ว ต้นไม้จำนวนมากก็ทนกับความร้อนไม่ไหว ส่งผลให้ใบ โดยเฉพาะยอด) ไหม้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกันถ้วนหน้า ทั้งต้นไม้ใหม่ ต้นไม้เก่า ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า พออากาศร้อนหมดไป ใบที่ออกใหม่หลังจากนั้นก็จะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม

ใบที่ไหม้ไปแล้ว เราแก้ไขอะไรไม่ได้นอกจากริดใบทิ้ง แล้วรอให้แตกใบใหม่ แต่ถ้าไหม้ทั้งยอดจนแห้งและทำให้ต้นไม้หยุดการเจริญเติบโต ดูแล้วต้นไม้ไม่น่าจะแตกยอดใหม่ออกมาจากยอดที่ไหม้ได้ ทางแก้ก็คือตัดยอดทิ้ง แล้วต้นไม้จะแตกยอดใหม่บริเวณอื่นแทน

แต่ข้อควรระวังคือ การตัดยอดต้นไม้ที่ปลูกในห้องแอร์ ต้นไม้อาจจะไม่แตกยอดใหม่เสมอไป เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้ ดังนั้นถ้าอยากตัดเพื่อให้แตกใหม่ ควรยกออกไปวางในที่ที่มีอากาศถ่ายเท

3. ส่วนที่เป็นรอยด่างของใบเน่า

หลายคนที่ปลูกต้นไม้ใบด่าง อาจจะเจอปัญหาตรงช่วงใบที่เป็นสีขาวเน่า อย่างแรกที่ต้องทราบก่อนก็คือ ใบไม้ที่ด่างนั้นแม้จะสวยแต่ก็ไม่ได้แข็งแรงเท่าใบไม้สีเขียวตามธรรมชาติ ยิ่งด่างมากก็ยิ่งอ่อนแอ การนำมาปลูกในห้องแอร์อาจจะเจอปัญหาได้หลายอย่าง ทั้งร้อนไปหรือน้ำเยอะไป จนส่งผลให้เกิดรอยเน่าบนใบ

ทางแก้ก็คือ ย้ายต้นไม้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันชอบ เช่น ย้ายออกไปไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเท ส่วนใบที่เน่าไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะรอยเน่าจะขยายใหญ่ขึ้นจนอาจจะเต็มรอยด่าง ถ้าต้นนั้นมีใบเป็นจำนวนมาก ก็ริดใบที่เน่าทิ้งได้

4. ใบเป็นรอยสีน้ำตาล

การปลูกต้นไม้ในห้องไม่ควรใช้ดิน แต่ควรใช้วัสดุปลูกอย่างกาบมะพร้าวสับมากกว่า เพื่อความสะอาด และป้องกันปัญหาที่จะมาจากโรคและแมลงที่มากับดิน แต่ในกาบมะพร้าวสับมีสารแทนนินซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ถ้าเราเอากาบมะพร้าวสับใส่ในกระถางเลย เมื่อรดน้ำสารแทนนินก็จะสะสมอยู่ในกระถาง ซึ่งอาจเป็นผลเสียกับระบบรากของต้นไม้บางชนิด ส่งผลให้ใบเป็นรอยสีน้ำตาล หรือทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ทางแก้ก็คือ ก่อนจะนำกาบมะพร้าวสับมาใช้ปลูกต้นไม้ ให้แช่น้ำทิ้งไว้สัก 3 วัน เพื่อละลายสารแทนนินออกมา หรือถ้าปัญหานี้เกิดกับต้นไม้ที่ปลูกอยู่แล้ว ก็ใช้เวลายกกระถางออกจากจานรอง แล้วรดน้ำลงในกระถางให้น้ำไหลผ่านเพื่อล้างสารแทนนินออก เราจะเห็นว่าช่วงแรกน้ำจะเป็นสีน้ำตาลเหมือนสีชา ถ้าทำไปสักพักน้ำจะใสขึ้น

5. เน่า

ต้นไม้ในห้องไม่ต้องการน้ำเท่าต้นไม้ที่อยู่กลางแจ้ง ถ้ารดน้ำมากไป น้ำก็จะขังจนทำให้รากเน่า และอาจจะมีปัญหาเรื่องเชื้อราด้วย ทางแก้สำหรับต้นไม้ที่เพิ่งมีอาการคือ ลดการให้น้ำลง แต่ถ้าอาการหนัก ก็ต้องนำต้นไม้ออกจากกระถาง เอาวัสดุปลูกออก เล็มรากส่วนที่เน่าออก ผึ่งรากให้แห้ง แล้วเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่

6. เพลี้ย

ถึงจะปลูกต้นไม้ในห้องแอร์ แต่หลายคนก็ยังเจอเพลี้ย มันอาจมากับต้นไม้อยู่แล้วทั้งที่ใบหรือเป็นเชื้ออยู่ในวัสดุปลูก และมาเจริญเติบโตต่อในห้องแอร์ ซึ่งมันชอบอากาศเย็นๆ อยู่แล้ว

ทางแก้คือ เช็ดออก ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดได้เลย แต่ถ้ามีปริมาณมาก เช็ดออกแล้วก็ยังกลับมาใหม่ ก็ใช้น้ำยาล้างจานผสมแบบเจือจางฉีดพ่นบริเวณใบ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้

7. หนอน

คนที่ปลูกไม้ใบไว้นอกห้อง หลายคนเจอปัญหาหนอนมากินใบต้นไม้ของเราจนแหว่ง นอกจากการใช้ยาฆ่าแมลงฉีด เรายังแก้ปัญหาได้ด้วยการหมั่นสังเกตและเก็บออก เริ่มต้นจากการสังเกตสภาพใบ เมื่อไหร่ที่เห็นรูบนใบ ก็ได้เวลาพลิกหาหนอน หนอนบางชนิดหากินกลางวันก็หาไม่ยาก แต่บางชนิดหากินกลางคืน ช่วงกลางวันจะไปหลบซ่อนอยู่ในวัสดุปลูก เราก็ต้องถือไฟฉายออกมาส่องหาเวลากลางคืนแทน

ขอบคุณข้อมูลจาก readthecloud
ผู้เขียน : ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง
ภาพ : มณีนุช บุญเรือง

โพสต์ไว้ที่: News เก็บเข้าไฟล์ไว้ที่: