เล่าขานงานวิจัย: อุปกรณ์หนุนสะโพกจากยางธรรมชาติ จาก ม.สงขลานครินทร์

ปัญหาที่พบบ่อยกับผู้สูงอายุ คือกระดูกสะโพกหักอันเนื่องจากหกล้มหรือเกิดการกระแทก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เป็นโรคกระดูกพรุน โดยร้อยละ 90 ของกระดูกสะโพกหักมาจากการหกล้ม ถ้ามีแรงกระแทกไปยังบริเวณกระดูกสะโพก ทำให้เกิดการเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน เสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต และไม่สามารถลุกยืนหรือเดินได้ ประเทศไทย มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ประมาณ 15 ล้านคน คาดว่าเป็นโรคกระดูกพรุนในส่วนกระดูกสะโพก ประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นประชากรหญิงประมาณ 1 ล้านคน และประชากรชายประมาณ 7 แสนคน และคาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ที่มีกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนของโลกมีจำนวน 4.5 ล้านคน ในปี พ.ศ.2593

ปัจจุบันมีวิธีป้องกันก่อนที่จะเกิดการหกล้ม คือการใช้ยาเพื่อเสริมกระดูกให้แข็งแรงขึ้น ซึ่งมักจะมีผลข้างเคียง คือการเบื่ออาหารหรือการแพ้ยา กับวิธีไม่ใช้ยา คือใช้อุปกรณ์ป้องกันการกระแทกของสะโพกซึ่งมีราคาถูกกว่าการรักษาหรือผ่าตัด ก่อนที่จะเกิดการหกล้มเพื่อไม่ให้กระดูกสะโพกหัก ซึ่งจะช่วยป้องกันผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนจากกระดูกหักหรือแตกจากการหกล้มได้ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย

รศ.ดร.วิริยะ ทองเรือง
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นอกจากผู้สูงอายุจะมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุนและกระดูกบางแล้ว ผู้ป่วยกระดูกหักที่เคลื่อนไหวไม่ได้ก็มีจำนวนมากที่เสี่ยงกับภาวะแผลกดทับด้วย คณะผู้วิจัยจึงพัฒนาแผ่นยางกันกระแทกนี้ขึ้นจากยางธรรมชาติเพื่อช่วยเรื่องความปลอดภัยให้ผู้สูงอายุ และยังเป็นการนำเอา ยางพารามาทำให้เกิดเป็นมูลค่าทางการตลาดที่สูงขึ้น โดยความร่วมมือกันทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทย์ศาสตร์

“ในระยะต่อไป ทีมผู้วิจัยจะพัฒนาในส่วน smart hip หรือ แผ่นหนุนสะโพกอัจฉริยะ เมื่อผู้สูงอายุที่สวมแผ่นหนุนสะโพกอัจฉริยะเกิดหกล้ม ระบบจะส่งสัญญาณ ไปยังผู้ดูแลหรือลูกหลาน ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ผู้สูงวัยตลอดเวลาให้สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที​ และ เป็นการพัฒนางานวิจัยต่อเนื่องในระดับที่ตอบโจทย์มากขึ้น”