ผศ.ทพ. นฤทธิ์ ลีพงษ์ รองคณบดีโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์ในเรื่องการพัฒนาการใช้ยาชาในทางทันตกรรม ว่าปัจจุบันมีการพัฒนาการใช้ยาชาในทางทันตกรรมในรูปแบบที่มีสารที่มีโครงสร้างแตกต่างไปจากยาชาในอดีต โดยมีการใช้ยาชาซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างเป็น Amide ทนความร้อนได้ดี มีความเสถียรคงตัวมากกว่า อันตรายน้อยกว่า โดยทำให้อยู่ในรูปยาชาแบบเฉพาะที่ได้ในทางทันตกรรม เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) เมพิวาเคน (Mepivacaine) หรือ อาติเคน (Articaine)
รองคณบดีโรงพยาบาลทันตกรรม กล่าวว่า ในอดีตเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 มีการนำ Cocaine มาใช้ในวงการทันตกรรม โดยใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ตัวแรกในโลกที่เคยมีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามจากพิษของ Cocaine ที่กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตอย่างมาก ทั้งโดยทางอ้อมโดยไปรบกวนกระบวนการเมตาบอลิซึ่ม ของสาร cathecolamine ในร่างกาย และโดยทางตรงมีการกระตุ้นให้มีการหลั่งสารตีบหลอดเลือดบางตัวออกมาจากเซลล์บุผนังหลอดเลือดโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยจะมีภาวะความดันโลหิตสูงและทำให้การทำงานของหัวใจหนักขึ้น จึงเป็นข้อเสียมากกว่าข้อดีที่จะนำมาใช้ในทางทันตกรรม ดังนั้น จึงมีการเลิกใช้ Cocaine ในลักษณะของการเป็นยาชาในทางทันตกรรมตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา