เมื่อพูดถึงอาหารที่เราเคยรับประทาน หลายคนคงรู้จักหรือเคยได้ยินเมนู เยื่อไผ่ตุ๋นยาจีน แกงจืด เยื่อไผ่ ผัดเยื่อไผ่ แล้วรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว เมนูเยื่อไผ่ต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นไผ่ หรือนำส่วนประกอบของต้นไผ่มาใช้ แต่ทำมาจากเห็ดชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า เห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่นั่นเอง
ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเห็ดร่างแห เห็ดร่างแห จัดอยู่ในสกุล Dictyophora วงศ์ Phallaceae ไฟลัมเบสิดิโอไมโคตา ชื่อสามัญไทย คือ เห็ดร่างแหยาว ร่างแหกระโปรงยาว ดางแหยาว จัดอยู่ในกลุ่มดอกเห็ดเขาเหม็น ในประเทศไทยพบเห็ดร่างแห 5 ชนิด คือ เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว, เห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว, เห็ดร่างแหเหลือง, เห็ดร่างแหส้ม, เห็ดร่างแหแดง
เห็ดร่างแหที่ยังเป็นดอกตูมจะมีเปลือกหุ้มด้านนอกลักษณะคล้ายไข่ ด้านในจะมีลักษณะเป็นเมือกคล้ายวุ้นช่วยป้องกันดอกอ่อนไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนและช่วยรักษาความชื้นให้กับดอกเห็ด ต่อมาเมื่อเจริญส่วนของก้านดอกเห็ดจะค่อยๆ ดันเยื่อหุ้มแตกออกจนเห็นวุ้นได้ชัดเจน ส่วนของก้านสีขาว มีรูพรุนเป็นช่องๆ และนิ่มคล้ายฟองน้ำ ภายในก้านมีลักษณะกลวง ส่วนหมวกมีร่างแหคล้ายตาข่ายหรือกระโปรงตาข่ายคลุมก้านดอกเห็ด สีของร่างแหมีหลายสี เช่น สีชมพู สีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีขาว ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด
จึงทำให้เห็ดร่างแหมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว เห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว และเห็ดร่างแหเหลือง ส่วนของร่างแหจะเจริญอย่างรวดเร็ว โดยใช้ระยะเวลาจากดอกที่กำลังแย้มบานจนกระทั่งบานเต็มที่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ส่วนด้านบนของเห็ดร่างแหจะมีหมวกลักษณะเป็นเมือกสีเข้มมีหลายสี เช่น น้ำตาล ดำ หรือเทา เป็นที่อยู่ของสปอร์ (ภาพที่ 2 ข.) มักมีกลิ่นเหม็น ทำให้ดึงดูดแมลงมาตอมซึ่งช่วยให้สปอร์ของเห็ดร่างแหกระจายไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการอาศัยแมลงช่วยในการกระจายพันธุ์ โดยแหล่งที่พบเห็ดร่างแหในประเทศไทย มักพบในบริเวณที่มีซากพืชทับถมหนา มีอินทรียวัตถุและความชื้นสูง เช่น สวนมะพร้าว สวนมะม่วง ป่าไผ่ สวนยางพารา เป็นต้น ในประเทศไทยพบเห็ดร่างแหได้เกือบทุกภูมิภาค
ประเทศไทยมีความโชคดีคือเรามีความหลากหลายของทางชีวภาพอยู่แล้วนะคะ เห็ดชนิดนี้มันชอบอยู่ในที่ร้อนชื้นเพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงเป็นแหล่งที่เหมาะกับการเพาะเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะเป็นเชิงการค้าหรือเชิงพาณิชย์ ซึ่งประเทศไทยจะมีเห็ดเยื่อไผ่หรือเห็ดร่างแหทั้งหมด 5 ชนิด จะมีเห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว กับเห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาวซึ่งเป็นชนิดที่รับประทานได้และที่รับประทานไม่ได้อีก 3 ชนิดก็คือ เห็ดร่างแหกระโปรงสีเหลือง ส้ม ชมพูแล้วแต่ภูมิภาค
นพวรรณ นิลสุวรรณ
นักวิชาการเกษตร ระดับชำนาญการ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา จังหวัดสงขลา
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา
เห็ดร่างแหสามารถสลายสารอินทรีย์ในระบบนิเวศ นำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่น สำหรับเห็ดร่างแหเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง มีราคาค่อนข้างแพง ปัจจุบันมีการนำเห็ดร่างแหมาใช้รับประทานทั้งในรูปของเห็ดร่างแหสดและเห็ดร่างแหแห้ง โดยเฉพาะในประเทศจีนมีการนำเห็ดร่างแหมาผลิตเป็นสินค้าผสมในยา หรือทำเป็นเห็ดร่างแหตากแห้ง เรียกว่า เยื่อไผ่
เห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเห็ดเยื่อไผ่แห้งประกอบด้วยโปรตีน ลิพิด คาร์โบไฮเดรต รวมถึงวิตามินอีกด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ควรบริโภคเห็ดเยื่อไผ่แห้งมากเกินไปเพราะในกระบวนการ แปรรูปให้เป็นเยื่อไผ่แห้งนั้นมีการใช้สารฟอกขาว ถ้าบริโภคมากเกินไปอาจมีการตกค้างของสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเห็ดร่างแห และได้มีการส่งเสริมให้กับผู้ที่สนใจในการเพาะเห็ดร่างแหอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม : biology