“ท้องผูก” แก้ได้ไม่ยาก

โดยทั่วไปอาการท้องผูก หมายถึง ภาวะที่มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มักสัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องใช้เวลาเบ่งนานกว่าปกติ รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง หรือมีอาการเจ็บทวารหนักขณะถ่าย ในผู้ที่มีอาการท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน จะถือว่ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง

หากมีการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เวลาถ่ายจะต้องเบ่งมากกว่าปกติ อุจจาระถ่ายออกมาเป็นก้อนแข็ง ถ่ายไม่สุดถ่ายไม่ออก และสุดท้ายอาจจะต้องใช้นิ้วมือในการช่วย อาการเหล่านี้เข้าเกณฑ์ภาวะอาการท้องผูก

ภญ.จิณณภัส เฮงประสาทพร
เภสัชกรฝ่ายผลิต ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

อาการท้องผูก เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ

  • การดื่มน้ำไม่เพียงพอ
  • การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  • การรับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก
  • มีโรคหรือมีความผิดปกติของลำไส้
  • ความเครียด
  • การตั้งครรภ์

ความรู้สึกอยากถ่ายของเราปกติจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ช่วง คือ ช่วงหลังตื่นนอน กับช่วงรับประทานอาหารในแต่ล่ะมื้อ ในบางคนตื่นขึ้นมาแล้วอาจจะไม่ได้รู้สึกอยากถ่ายแต่จำเป็นต้องถ่ายซึ่งเราสามารถช่วยเพิ่มกระตุ้นตรงนั้นได้โดยการตื่นมาแล้วดื่มน้ำหรือนมอุ่นๆ 1 แก้วแล้วสักพักจะเริ่มรู้สึกปวดอยากถ่าย เนื่องจากมีการกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวและเริ่มทำงาน

ภญ.ลดาวัลย์ รตะวังกุล
เภสัชกรฝ่ายผลิต ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ควรทำอย่างไรหากมีอาการท้องผูก?

1. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
ในแต่ละวันควรเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณกากใยอย่างน้อย 20 ถึง 35 กรัม อาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ถั่ว ธัญพืช ผักและผลไม้สด กากใยที่ได้จากอาหารเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ และทำให้อุจจาระนิ่ม

2.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นการช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น

​3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ​
การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จะช่วยให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดอาการท้องผูกได้

4.ฝึกการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ​
ควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยเฉพาะหลังตื่นนอน นอกจากนี้ การนั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยขณะขับถ่ายสามารถเพิ่มแรงเบ่งอุจจาระได้

5.ใช้ยาระบาย ​

ทั้งนี้อาการไม่ดีขึ้น ปวดท้อง ถ่ายไม่ออก ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง