พิธีปิดโครงการ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา สู่การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

สำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการเป็นที่ปรึกษาโครงการ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราสู่การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ 2563 ระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 100 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2563

โดยวางแผนการดำเนินงานออกเป็น 10 กิจกรรม ประกอบด้วย

        (1) การจัดทำและนำเสนอแผนการดำเนินงานภาพรวมของโครงการ

        (2) การเผยแพร่ และรับสมัครวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราหรือกลุ่มสหกรณ์ในอุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราหรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา ที่มีสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดสงขลาหรือสตูลหรือพัทลุงหรือนครศรีธรรมราชหรือสุราษฎร์ธานีหรือชุมพรหรือระนองหรือกระบี่หรือพังงาหรือภูเก็ตหรือตรัง

        (3) การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่น้อยกว่า 4 กิจการหรือกลุ่ม เข้าร่วมโครงการเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราสู่การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ผลการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย 4 กิจการ ได้แก่ 1) หจก.กระบี่ลาเท็กซ์ 2) ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด 3) สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด และ 4) สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านคลองโตนพัฒนา จำกัด

        (4) ดำเนินการจัดพิธีเปิดโครงการ และลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างที่ปรึกษากับวิสาหกิจหรือกลุ่มสหกรณ์ ๔ กิจการ เพื่อให้วิสาหกิจหรือกลุ่มสหกรณ์ได้ทราบขอบเขตการดำเนินงานของที่ปรึกษาและความร่วมมือของวิสาหกิจต่อการดำเนินงานของกิจกรรมอย่างชัดเจน โดยพิธีเปิดโครงการและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กำหนดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

        (5) ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา (ยางหุ้มรองเท้ากันเชื้อโรค) ตามความต้องการของตลาดเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ยางต้นแบบ จำนวน 7 Man-Day (1 กิจการหรือกลุ่ม) เพื่อให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพพร้อมใช้งานพร้อมรายละเอียดเงื่อนไขอนุสิทธิบัตร  สิทธิบัตร กรณีที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการจดสิทธิบัตรจากผู้วิจัยสำหรับที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์พร้อม Check-in ใน ระบบ Self-Declare ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยที่ปรึกษาได้ดำเนินการให้คำปรึกษาแนะนำการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางหุ้มรองเท้าป้องกันเชื้อโรคสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จำนวน 7 Man-Day ประเด็นสมบัติของวัสดุที่ต้องการมุ่งเน้นในการพัฒนาคือ ความยืดหยุ่น ความสามารถในการยืด และความทนทานต่อการฉีกขาดในขณะร้อน (ในขั้นการถอดออกจากแม่พิมพ์) ประเด็นด้านการออกแบบคือต้องการผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่โดยให้มีความสูงขึ้นมาถึงระดับปิดทับขากางเกงได้

        (6) ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการพัฒนาถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 4 Man-Day (3 กิจการหรือกลุ่ม) เพื่อให้สถานประกอบการได้พัฒนากระบวนการผลิตและนวัตกรรมในการผลิตของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

        (7) จัดทำแผนธุรกิจ(Business Plan) เรื่องการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 4 แผนธุรกิจ โดยแยกแต่ละวิสาหกิจหรือกลุ่มสหกรณ์

        (8) ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลไม่น้อยกว่า 2 แห่ง

(9) จัดทำข้อมูลผลงาน Success Caseเรื่องกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในรูปแบบวีดีทัศน์และเอกสารรูปเล่ม

        (10) จัดพิธีปิดโครงการโดยที่ปรึกษานำเสนอผลสำเร็จของโครงการ กำหนดจัดขึ้นวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุม 1402 อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ฯ (LRC) ชั้น 14 อาคาร 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่