“บริจาคเลือด” (Blood donation) ดีอย่างไร?

การบริจาคเลือด (Blood donation) เป็นกิจกรรมอาสาสมัครที่ผู้บริจาคยินยอมให้นำเลือดของตนเองไปใช้เมื่อมีผู้ต้องการ การบริจาคเลือดสามารถช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียเลือดจากอุบัติเหตุ จากการผ่าตัด หรือผู้ที่มีอาการป่วยต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคฮีโมฟีเลีย การบริจาคเลือดนั้นรวมไปถึงการบริจาคเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสม่า ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด โดยก่อนที่จะบริจาคเลือดได้นั้นต้องผ่านการทดสอบความเข้มข้นของเลือดและการซักประวัติก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถบริจาคเลือดได้ ส่วนเลือดที่ได้รับการบริจาคมานั้นจะถูกนำส่งเข้าศูนย์บริการโลหิตที่มีในสถานพยาบาล เพื่อเข้าสู่กระบวนการทดสอบเลือดที่ได้ แยกส่วนประกอบ และจัดเก็บต่อไป การบริจาคเลือดจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้

  • การบริจาคโลหิตรวม (Whole Blood) เป็นการบริจาคเลือดแบบพื้นฐาน โดยเมื่อได้เลือดจากผู้รับบริจาคแล้วจะนำไปแยกส่วนประกอบของเลือด เป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง พลาสม่า และเกล็ดเลือด เป็นต้น
  • การบริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets) การบริจาคเกล็ดเลือดจะใช้วิธีในการกรองเลือด (Apheresis) โดยในการบริจาคจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อกรองเอาเกล็ดเลือดและพลาสม่าบางส่วนออกจากเลือด จากนั้นเลือดจะถูกส่งกลับเข้าร่างกายของผู้บริจาค
  • การบริจาคพลาสม่า (Single Donor Plasma) วิธีการบริจาคพลาสม่าจะมีทั้งการบริจาคที่ทำพร้อมกับการบริจาคเกล็ดเลือด หรือบริจาคเพียงพลาสม่าอย่างเดียวก็ได้
  • การบริจาคเม็ดเลือดแดง (Single Donor Red Cell) การบริจาคจะใช้การกรองเลือดเพื่อเก็บเม็ดเลือดแดง ซึ่งในการเก็บเม็ดเลือดแดงจะต้องใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการเข้าช่วย ในขั้นต้นจะใช้การเก็บน้ำเลือดทั้งหมดไปก่อนแล้วจะนำไปแยกส่วนประกอบภายหลัง

การบริจาคเลือดในแต่ละครั้งจะต้องทิ้งระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ (3 เดือน) เนื่องจากการบริจาคเลือดในแต่ละครั้งจะสูญเสียเลือดประมาณ 10% ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย และไปกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกยาวนานถึง 90 วัน ทำให้ไขกระดูกทำงานดีขึ้น ซึ่งไขกระดูกนับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนเลือดที่ถูกบริจาคไป เม็ดเลือดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จะแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่าเม็ดเลือดที่บริจาคไป สามารถลำเลียงออกซิเจนได้เต็มที่ ส่วนเม็ดเลือดขาวที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ก็จะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเกล็ดเลือดก็จะมีประสิทธิภาพในซ่อมแซมรอยแผลในร่างกายได้ดีขึ้นอีกด้วย

การบริจาคเลือดช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมาหมุนเวียนใช้บำรุงร่างกาย เป็นการเปลี่ยนถ่ายเลือดเก่า เลือดใหม่ได้อย่างมีประโยชน์ และปลอดภัยที่สุด เมื่อเราได้เปลี่ยนถ่ายโลหิตเก่า-ใหม่ ส่งผลให้เลือดใหม่ที่ไปหล่อเลี้ยงตามร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใสยิ่งขึ้น

หากคุณตั้งใจจะบริจาคเลือดเป็นประจำตามที่สภากาชาดแนะนำ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา ต้องระวังเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน ไม่เครียด เลยทำให้กลายเป็นคนที่มีสุขภาพดีไปโดยธรรมชาติ สุขภาพจิตดีตามไปด้วย เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่น ความสุขใจ อิ่มเอมใจ จะส่งผลต่อจิตใจของเราที่รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ด้วย เราบริจาคเลือดได้สูงสุด 4 ครั้งต่อปีเลยนะ (โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายเราได้รับอันตรายใดๆ) หรือทั้งชีวิตเราบริจาคเลือดได้มากถึง 212 ครั้งเลยทีเดียว กรุ๊ปเลือดที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กรุ๊ป AB ตามมาด้วยกรุ๊ป A, B และ O ตามสัดส่วนของประชากรในประเทศ