การเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่จึงประสงค์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ในทางกลับกันก็อาจจะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ทางรัฐบาลจัดให้ โดยมีเหตุผลหรือความจำเป็นบางประการ เช่น ปัญหาสุขภาพจึงทำให้ไม่สามารถเข้ารับรับวัคซีนได้ มีความเชื่อว่าการรับวัคซีนเป็นการขัดต่อหลักการทางศาสนา หรือมีความกังวลในประสิทธิภาพของวัคซีนที่อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้
ด้วยเหตุนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ทางรัฐบาลพยายามแสวงหามาบริการให้กับประชาชนนั้น อาจมีคำถามว่า หากประเทศไทยสามารถจัดการให้ประชาชนได้เข้าถึงการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง รัฐจะสามารถบังคับให้ประชาชนที่อยู่ในประเทศไทยต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่
ข้อพิจารณาประการแรก หากรัฐบาลบังคับให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ย่อมเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันกระทบต่อสิทธิในร่างกายและสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายมาบังคับให้ประชาชนทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีน รัฐบาลต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ว่าควรมีกฎหมายบังคับเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงและกลุ่มบุคคลที่ต้องมีการพบปะกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น กรณีเช่นนี้ การบังคับฉีดวัคซีนก็อยู่บนความชอบธรรมที่รัฐย่อมทำได้
ข้อพิจารณาประการต่อมา การเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ถือเป็นการเข้ารับการบริการสาธารณสุขอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นสิทธิของประชาชน หาใช่เป็นหน้าที่ของประชาชน
หากพลเมืองไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามที่รัฐบาลได้จัดสรรให้ ก็ไม่ถือว่าผู้นั้นมีความผิด และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายของกฎหมายฉบับอื่นที่กำหนดว่า การฝ่าฝืนไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่นนี้ ประชาชนจึงสามารถปฏิเสธการเข้ารับวัคซีนดังกล่าวได้
อาจารย์พงค์ศักดิ์ เจ๊ะพงค์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อย่างไรตาม เพื่อเป็นการป้องกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลจึงควรมีมาตรการเผยแพร่และให้ความรู้แก่ประชาชนว่าการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ และควรสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในเรื่องของความมีประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งควรจัดให้มีการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและการมีสำนึกต่อส่วนรวมว่า การฉีดวัคซีนเป็นความรับผิดชอบของทุกคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง และช่วยหยุดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
ในมุมของสาธารณสุข
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เล่าว่า การฉีดวัคซีนในระดับบุคคล คนนั้นจะมีความปลอดภัยอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้เกิดภูมิคุ้มกันในระดับประเทศหรือระดับจังหวัดต้องมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนประมาณ 60% ของประชากรในพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ที่พิจารณานำมาใช้กับคนไทย ต้องเป็นวัคซีนที่ดี มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเหมาะสมกับคนไทย
เราจึงต้องขอความร่วมมือของประชาชนต่อในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งการระบาดระลอกแรกใช้มาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ครั้งนี้จึงขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันฉีดวัคซีนเพื่อชาติอีกครั้ง ถ้าเราฉีดวัคซีนได้ถึง 50-60% ของประชากรก็จะสามารถเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัย การทำธุรกิจ การท่องเที่ยวก็เดินหน้าได้ ประเทศไทยก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สุดท้ายนี้อยากจะเชิญชวนและรณรงค์ให้ประชาชนได้รับวัคซีนโควิด หากร่วมกันรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 และร่วมรักษามาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 เราจะได้เจอกันด้วยความสบายใจของทุกฝ่าย ไม่กลัว ไม่กังวล หรือหวาดระแวงซึ่งกันและกัน