“ขนมบ้านโกไข่” จาก no name สู่ brand name : ธุรกิจร้านขนมของอดีตวิศวกรที่หลงใหลในขนมท้องถิ่น

จุดเริ่มต้น ‘ขนมบ้านโกไข่’

คุณพรศักดิ์ ตั้งคำ อดีตวิศวกรก่อสร้างเจ้าของธุรกิจขนมบ้านโกไข่ เกิดในครอบครัวใหญ่ที่อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีอยู่กับการทำขนมเพราะอา หรือโกไข่ มีอาชีพทำขนมขาย

ภาพ: แฟ้มภาพ

“จริงๆอาชีพของโกไข่มีมาเยอะมาก ก่อนหน้าที่จะทำขนมคือทำสวน ปลูกมันแกว เค้าทำขนม ตอนเด็กๆจำความได้ ตื่นเช้าขึ้นมาเราเห็นเค้ากวนไส้หนม อบขนม กลิ่นก็หอมไปทั้งบ้าน โกไข่เป็นน้องของป๊า  ใกล้ชิดกันมาครับ ตั้งแต่เด็กๆไปอยู่บ้านโกไข่ พี่น้อง ลูกของโกไข่ 5 คน ผมกับพี่ชายก็สนิทกัน มาก เหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน กินนมเต้าเดียวกัน คำว่าบ้าน คือเรารู้สึกอบอุ่นทุกครั้งเวลาที่เราพูดถึงคำว่า”บ้านโกไข่” เราอยู่ด้วยกันมา ไม่ว่าจะทำงาน ก็เลยเป็นความรู้สึกอบอุ่นอยู่ทุกวันนี้นะครับ”

จุดเริ่มต้นของขนมบ้านโกไข่เกิดเมื่อครั้งที่คุณพรศักดิ์ย้ายฐานการทำงานมาที่โรงไฟฟ้าจะนะ สงขลา ซึ่งไม่ไกลจากห้วยยอด บ้านเกิด  คุณพรศักดิ์กลับบ้านทุกเดือน ก็ยังเห็น ‘อา’ หรือ ‘โกไข่’ ทำขนม ส่งขนม รวมทั้งขนมที่เหลือเพราะขายไม่หมด

ก็เกิดคำถามว่าทำไมขนมเหลือทั้งที่ขนมของครอบครัวรสชาติอร่อย เลยคิดอยากช่วยหาตลาดใหม่ๆ คุณพรศักดิ์เอาขนมจากที่บ้านห้วยยอด จังหวัดตรังมาฝากขายร้านในหาดใหญ่ แต่ก็เจอปัญหาอายุการขายของขนมสั้นเพราะไม่ใส่สารกันเสีย ถึงขนมจะอร่อยแต่ก็ขายไม่ดี  เพราะไม่เป็นที่รู้จักของลูกค้า รายได้จากส่งขนมตามร้านไม่ดีนัก คุณพรศักดิ์หาทางออกด้วยการหาเช่าร้านเพื่อเปิดร้านขายขนมของตัวเอง สาขาแรกของร้านขนมบ้านโกไข่ก็เกิดขึ้น

ภาพ: ขนมบ้านโกไข่

จากสาขาแรก สู่ การก้าวสู่ธุรกิจเต็มตัว

“เราไปฝากขายเราจัดการอะไรยาก เราต้องเปิดหน้าร้าน เลยเช่าที่ตรงหน้า 5 เสือพี่น้อง ถ.ประชาธิปัตย์ เยื้องโรงแรมนิวซีซั่น แรกๆ ก็รับขนมมาวางขายก่อน ถ้าเทียบกับที่ทำงานบริษัทกับค่าเช่า เราคิดว่าแพงนะครับ

“เราคิดว่าต้องได้ขายได้เท่าไหร่ นั่งจิ้มทุกคืน คืนนึงหลับคาโต๊ะ แฟนหลับแล้วผมก็ไปนั่งนอกห้อง หลับฟุบคาโต๊ะ ยุงกัดบ้าง ตื่นมาตั้งแต่ตี 2 ตี 3 งานประจำก็ทำ เช้าก็ไปทำงาน เป็นอยู่ประมาณ 4-5 เดือน เรารับขนมมาวางขาย พอช่วงตรุษจีน เราขายดีมาก เราก็ดีใจว่ามาถูกทางแล้ว พอหลังจากตรุษจีนก็ดร๊อปอีก ขายยากมาก วันนึงบางทีได้แค่ 600 700 800”

แม้ยอดขายของขนมช่วงตรุษจีนจะเป็นที่น่าพอใจมาก แต่หลังจบเทศกาลยอดขายขนมกลับไม่เป็นดังหวัง แต่คุณพรศักดิ์ก็ยังไม่ย่อท้อ ฝึกทำขนมเอง นอกจากวางขายที่ร้านก็เน้นขายตามงานต่างๆในจังหวัดสงขลา

“เราทำขนมเอง เปลี่ยนไปขายตามงานต่างๆไม่ว่าจะเป็นเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลผลไม้ของดีเมืองสงขลา ตรุษจีน กินเจ ไปออกบู๊ท ไปยืนทอดขนม ไปยืนอบเอง ขายกันเอง ออกบู๊ทประมาณปีเศษๆเกือบสองปี งานม.อ. ก็มาออกงานเกษตร มาทุกปีเลยครับ ดีมาก แต่โดยรวมก็ยังถือว่าธุรกิจยังขาดทุน เงินทุนก็เกือบหมด แต่ก็ฮึดอีก เพราะไปเห็นทำเลหน้ากรีนเวย์ ตรงซอยผาสุก  คือสาขา ณ ปัจจุบัน”

แต่ถึงกระนั้นหักลบกลบนี้แล้วกิจการขนมบ้านโกไข่ยังไปได้ไม่ดีนัก แต่คุณพรศักดิ์ก็ยังคิดขยายสาขาเพราะยังมั่นใจในขนมของตัวเอง และเห็นโอกาสของทำเลใหม่ที่เป็นทางผ่าน เข้าออกเมือง การขยายสาขาของร้านก็เกิดสาขาที่สองและที่สามตามมา

“ตอนนั้นขาดทุนด้วยครับ มีเงินตั้งต้นประมาณหลัก 800000 ครับ ก็ใช้ไปเรื่อยๆก็เกือบหมด จนกระทั่งฮึดอีกก็ต้องไปเห็นที่ตรงหน้ากรีนเวย์ ซอยผาสุก ผมเห็นว่ามีรถผ่าน วิ่งไปสะเดา วิ่งไป 3 จว.ก็ต้องผ่านเวลาเข้าเมือง เวลามา ม.อ.ก็ต้องผ่านเส้นคลองหวะ ก็น่าจะลอง พอเปิดสาขานี้ปั๊บ ที่ปั๊มก็ว่างอีก ปั๊มตรงแยกท่าท้อน แยกลพบุรีราเมศร์ ห้องว่างให้เช่าพอดี เราก็ไปติดต่อ ตอนนั้นเลยมีสาขาหน้า 5 เสือพี่น้อง  หน้ากรีนเวย์ แล้วก็ปั๊ม พร้อมกันสามที่เลย”

พอเปิดสาขาหน้ากรีนเวย์คุณพรศักดิ์ก็เปิดสาขาหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎ ส่วนอีกสาขาสำคัญของร้านบ้านขนมโกไข่คือสาขาหน้ามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว้างทำให้ร้านสามารถวางขนมมากขึ้น

พอร้านเริ่มขยายสาขามากขึ้นคุณพรศักดิ์ลาออกมาทำธุรกิจร้านขนมเต็มตัว ร้านขนมบ้านโกไข่ขายดีขึ้นมากโดยเฉพาะกลุ่มเค้กปอนด์รสชาตินุ่มไม่หวานมาก หรือเค้กชิฟฟ่อนสามเหลี่ยมห่อกระดาษรสชาติหวานละมุนไม่ใส่สารกันเสียที่เกิดจาการคิดค้นสูตร ปรับสูตรจากการเข้าคอร์สเรียนทำขนมหลายๆ แห่งของภรรยา เค้กชิฟฟ่อนสามเหลี่ยมขายดีมากและทำให้ร้านขนมบ้านโกไข่เป็นที่รู้จัก

ภาพ: ขนมบ้านโกไข่

จุดขายร้าน คู่ความเป็นพื้นถิ่น

“เรามีจุดขายคือทำให้ลูกค้าเห็นว่าเราทำสดใหม่ ทุกสาขาก็พยายามทำขนมที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่ตรงนั้น ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ตรงนี้มีมะพร้าวเยอะ เราก็ทำเค้กมะพร้าว เราอยากขายขนมที่เราคิดว่าเราอยากจะซื้อขนมให้ลูกเรากินให้แม่เรากิน ให้คนที่เรารักกิน แล้วเราก็กินเอง ลูกผมสองคน่ชอบกินเค้กมาก เรารู้สึกว่าอยากจะให้ขนมที่ดี ซึ้อฝากให้กับคนที่เค้ารัก นี่คือของฝากในใจทุกคน นี่คือสโลแกนของร้าน”

ปัจจุบันร้านขนมบ้านโกไข่ มี 26 สาขาทั้งภาคใต้และกทม. (ข้อมูล ณ ปี 2567 มี 28 สาขา) ระยะเวลา 12 ปีกับ 26 สาขาของ ร้านขนมบ้านโกไข่มาไกลกว่าที่คุณพรศักดิ์คาดเอาไว้ การขยายสาขาและขยายไลน์ขนมให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า รวมทั้งอาจแตกแบรนด์ใหม่ในร่มเงาธุรกิจของขนมบ้านโกไข่เป็นเป้าหมายสำคัญถัดไป

“ผมคิดว่าผมเดินมาไกลมากครับ เกินฝันไปแล้วหลังจากนี้เราอยากจะทำอะไรที่คิดว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ธุรกิจเหมือนที่ได้รับโอกาสได้รับรางวัลคนดีศรีสงขลา ก็ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าถ้ามีโอกาสตอบแทนบ้าง จะเป็นวิทยากรให้แนวคิดในการทำธุรกิจเราก็ยินดีที่อยากจะช่วย ขนมยังมีช่องว่างอีกเยอะ อย่าแข่งกันจนคุณภาพด้อยลง แข่งกันด้วยราคาโดยไม่มองว่าผู้บริโภคจะได้อะไร ถ้าแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ ผู้บริโภคจะได้ทานของดี ราคาไม่สูงมาก ทานแล้วอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะยั่งยืนครับ ผู้บริโภคจะติดใจเรา การขยายของเราก็คืออาจจะเปิดอีกแบรนด์นึง แล้วทำครัวกลาง มีหลายตัวที่อยู่ในใจเราและเราคิดว่าน่าจะไปได้ในตลาด ส่วนตัวผมค่อนข้างอนุรักษ์นิยมประมาณว่าเรารักในท้องถิ่น เรารักในพื้นถิ่นความเป็นสงขลา เราก็อยากให้ตรงนี้อยู่คู่กับบ้านเรา”

ภาพ: ขนมบ้านโกไข่
ภาพ: ขนมบ้านโกไข่

หมายเหตุ: ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 22 มี.ค. 2567

ฟังบทสัมภาษณ์ ‘ขนมบ้านโกไข่’ เต็มได้ที่รายการ ‘สภากาแฟ’


อ่านต่อ

KUANITO : ร้านขนมของนักเคมี

WORK WITH ME – “โครเก็ตฟักทอง” อร่อย ทำง่าย ได้ช่วยเกษตรกร

แนวคิดทายาทรุ่นที่สอง ‘ยาสีฟันเทพไทย’ ตั้งเป้ายกระดับแบรนด์ไทย

2ความคิดเกี่ยวกับ““ขนมบ้านโกไข่” จาก no name สู่ brand name : ธุรกิจร้านขนมของอดีตวิศวกรที่หลงใหลในขนมท้องถิ่น”

  1. ชอบเพราะขนมอร่อย สนใจอยากขอซื้อแฟรนไชส์ไม่ทราบอีสานมีมั้ย

  2. ขนมโกไข่อร่อยที่สุดครับ ผมทานมาหลายปี รู้จักเมื่อไปเที่ยวหาดใหญ่ สะอาด สด ใหม่เสมอจริงๆ จะรักและอุดหนุนกิจการบ้านโกไข่ไปตลอดครับ อยากให้มีในปั้ม PTT วิภาวดีรังสิต ใกล้สี่แยกสุทธิสาร จะได้มีโอกาสทานได้ตลอดเพราะใกล้บ้าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *