วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ป้องกันความรุนแรงหากเกิดโรค

ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมีความสำคัญต่อทุกช่วงอายุ สามารถปกป้องจากการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคก็เพิ่มมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ มีประสิทธิภาพลดลง ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สูงขึ้น ดังนั้นในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและสามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคได้

พญ.สุภิญญา โสโน แพทย์จากสาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ในช่วงวัยเด็กหากฉีดวัคซีนครบแล้ว เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนซ้ำอีก เพราะร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงวัคซีนหลายชนิดที่เคยฉีดนั้น ไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต เพราะภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีนที่ฉีดนั้นจะเสื่อมลงไปตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนอาจลดลงเมื่อเวลาผ่านไป จึงจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นใหม่ เมื่อสูงวัยขึ้นอาจส่งผลให้เกิดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่มีหลายอย่าง เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม วัคซีนป้องกันคอตีบไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น ดังนั้นการกระตุ้นวัคซีนบางชนิดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประสิทธิภาพป้องกันโรคได้เต็มที่ และลดความรุนแรงของโรครวมถึงลดอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

“หากไม่ได้รับวัคซีนจะเป็นการเพิ่มโอกาสติดเชื้อให้กับตัวเอง และยังมีโอกาสในการนำเชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ฉะนั้นการป้องกันดีกว่าการรักษาแน่นอน”

พญ.สุภิญญา โสโน กล่าวเพิ่มเติมว่าโดยปกติเวลาร่างกายเราสัมผัสกับเชื้อโรคจะมีการสร้างภูมิต้านทานเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ร่างกายจึงมีความทนทานต่อเชื้อโรคนั้นๆ หากติดเชื้อโรคบางอย่างจะไม่เป็นอีกแล้ว เช่น โรคอิสุกอิใส โรคหัด ซึ่งร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติโดยการรับเชื้อ ติดเชื้อ หายป่วย ไม่เป็นซ้ำหรือหากเป็นซ้ำอาการจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก วัคซีนคือแบบฝึกหัดสำหรับร่างกายได้ฝึกระบบภูมิคุ้มกัน สร้างภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกันกับที่เราสัมผัสเชื้อโรคตามธรรมชาติ แต่เชื้อโรคที่ให้เข้าไปไม่ใช่เชื้อโรคตัวร้าย แต่จะเป็นเชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนแอลง เมื่อรับเข้าสู่ร่างกายก็จะไม่ก่อให้เกิดโรคและร่างกายจะจดจำ หากในอนาคตร่างกายสัมผัสกับเชื้อโรคนั้นๆ จะสามารถจัดการกับโรคนั้นๆได้ทัน โดยผู้สใหญ้ผู้สูงอายุควรได้รับการประเมินความเสี่ยงรายบุคคลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากแต่ละคนมีความเสี่ยงต่อโรคมาเท่ากัน  

“วัคซีนสำหรับบางโรคมีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ใหญ่ผู้สูงอายุเท่านั้น เช่น วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ส่วนวัคซีนที่ผู้ใหญ่ควรฉีดเพื่อกระตุ้นทุกๆ 10 ปี เช่น วัคซีนโรคคอตีบและบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ทุกคน ทุกช่วงอายุ โดยสามารถฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน จากนั้นควรฉีดเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการป้องกันประจำฤดูกาล”

ทั้งนี้หลังจากการรับวัคซีนแล้วร่างกายจะมีการตอบสนองต่อวัคซีน ในบางรายอาจมีอาการข้างเคียงที่เกิดกับแต่ละคนมากน้อยไม่เท่ากัน บางรายอาจจะรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว เพลีย ปวดเมื่อย มีไข้ต่ำๆ หรือปวดบริเวณที่ฉีดยา กรณีนี้ไม่แนะนำให้นวดคลึงหรือประคบบริเวณนั้น เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง โดยส่วนใหญ่หากเกิดอาการข้างต้นมักจะหายเองภายใน 24-48 ชั่วโมง ส่วนอาการข้างเคียงที่บ่งบอกว่าเป็นอาการแพ้ มักมีผลกระทบต่อระบบต่างๆของร่างกาย เช่น มีผื่นลมพิษ หายใจไม่สะดวก หน้ามืด เป็นลม เกิดปัญหากับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *