ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาวิชาระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงการใช้วัคซีนป้องกัน Covid-19 ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันเราคงต้องใช้วัคซีน Sinovac ที่ผลิตจากประเทศจีนเป็นหลักในการป้องกันโควิด 19 ไปอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะได้วัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น AstraZeneca และ Pfizer เข้ามาเป็นตัวหลัก เพราะทั่วโลกยังขาดแคลนวัคซีนอยู่ และประเทศผู้ผลิตยังคงต้องใช้ฉีดในประเทศตนเองให้ทั่วถึงก่อน อีกทั้งกำลังผลิตที่เชื่อถือได้ที่เรายังติดต่อได้อยู่ขณะนี้ก็ยังเป็นจากประเทศจีน
อย่างไรก็ตามปัญหาของวัคซีน Sinovac คือเรายังมีข้อมูลของวัคซีนชนิดนี้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ เพราะเป็นวัคซีนที่ผลิตออกมาทีหลัง และประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตยังมีความชำนาญและประสบการณ์น้อยกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งมีกระบวนการด้านวัคซีนมานานนับร้อยปี ทั้งการทดลอง การมีเครือข่ายต่างประเทศ และการติดตามอาสาสมัคร นอกจากนั้นการเข้ามาของ Sinovac ได้ผ่านการทดลองด้านความปลอดภัย การศึกษาระดับของภูมิคุ้มกัน การเข้าศึกษาผลการใช้ในพื้นที่จริงจากประเทศจีน แล้วจึงนำเข้าสู่กระบวนการของการตลาดในประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่อยากจะทราบคือ ความสามารถในการป้องกัน Covid-19 ของวัคซีน Sinovac ได้ผลมากน้อยเพียงใด
ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลผลการป้องกัน Covid-19 ของวัคซีน Sinovac ในเขตจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่แรกของไทยที่มีการวิเคราะห์เรื่องนี้ โดยศึกษาประสิทธิผลของวัคซีน โดยใช้วิธีบูรณาการข้อมูลผู้รับวัคซีนและข้อมูลการสอบสวนโรคอย่างเป็นระบบ และคำนวนค่าอัตราส่วนการเป็นโรค ((Odds Ratio) ในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่ครบระยะกักแล้วในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีอายุ 18-59 ปี จำนวน 1,097 ราย ในระหว่างเดือนเมษายน ถึง 10 พฤษภาคม 2564
ผลการศึกษาปรากฎว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิผลในการลดโอกาสการติดเชื้อ ได้ 83.3% ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกินกว่า 14 วัน โดยจะมีการศึกษาในรอบเดือนมิถุนายนเพื่อยืนยันผลดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง และแนะนำให้ฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มเพื่อประสิทธิภาพที่สมบูรณ์ในการป้องกัน
การนำเสนอผลการวิเคราะห์ในหัวข้อ “สนามรบภูเก็ต Sinovac ป้องกันโควิดได้กี่เปอร์เซ็นต์” และเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ได้รับเกียรติจาก นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติม โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาวิชาระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ