ม.อ.รับทุน 41 ล้านจาก NIH สร้างบุคลากรระดับนานาชาติทำวิจัยหยุดเชื้อวัณโรค

วัณโรคเป็นโรคเก่าแก่ที่อยู่ร่วมกันมานานกับสายพันธุ์มนุษย์นับหมื่นปีแล้ว โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคมีแนวโน้มลดลงเมื่อสังคมเจริญขึ้น มีสิ่งแวดล้อม อนามัย เศรษฐกิจ โภชนาการที่ดีขึ้น แต่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์การระบาดของเชื้อ HIV ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานของผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่งลดลงและติดเชื้อได้ง่ายทำให้ผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้น และการใช้ยาเพื่อควบคุมวัณโรคไม่เข้มงวดพอทำให้เกิดเชื้อดื้อยาอย่างยิ่งยวดที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงในการรักษาและจำนวนผู้ป่วยดื้อยามีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เชื้อวัณโรคจะฝังอยู่ในร่างกายนานมากโดยไม่แสดงอาการ โดยประชากรติดเชื้อวัณโรคแฝงทั่วโลกมีถึง 2 พันล้านคน ซึ่งหากแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้นและร่างกายอ่อนแอลงจะมีการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าปกติ

รับฟังรายการสภากาแฟ ตอน ม.อ.รับทุน 41 ล้านจาก NIH ได้ทาง Podcast ที่นี่ ||

ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า สาขาระบาดวิทยาได้รับทุนจากองค์การ National Institue of Health (NIH) จำนวน 41 ล้านบาท ในการสร้างบุคลากรเพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อวัณโรค ซึ่งเป็นการพิจารณาให้ทุนกับหน่วยงานวิจัยทั่วโลกที่จัดทำโครงการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเพียง 1 ใน 2 สถาบันนอกประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการคัดเลือกให้รับทุนดังกล่าว ซึ่งโครงการที่เสนอขอทุนเป็นโครงการฝึกอบรมนักวิจัยรุ่นใหม่ ในพื้นที่ที่วัณโรคระบาดหนัก เพื่อทำการวิจัยและนำไปสู่การรักษาและกำจัดเชื้อวัณโรคให้หมดไป เพิ่มศักยภาพของพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของสังคม ให้สามารถวิจัยและแก้ปัญหาของตนเองได้

ที่ผ่านมาระหว่างปี 2558-2563 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยได้รับทุนดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยได้มีผลงานในการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จากประเทศไทย พม่า และอินโดนีเซีย จำนวน 16 คน มีวิทยานิพนธ์เรื่องวัณโรค และผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติไปแล้ว 19 เรื่อง และมีนักศึกษา 6 คน ได้นำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมโรคปอดนานาชาติที่สหราชอาณาจักร เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการดังกล่าวส่งผลให้ได้รับการพิจารณาให้รับทุนต่อเนื่องอีกตั้งแต่ปี 2564-2569

ทุนที่ได้รับในครั้งนี้จะนำไปขยายพื้นที่ในการทำวิจัยเพิ่มเติมโดยเน้นจุดหลักที่ประเทศอินโดนีเซีย จะมีการแบ่งทุนการจัดอบรมและการร่วมเป็นวิทยากรไปยังสถาบันที่มีความร่วมมือเช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยในฮุสตัน รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา อีกส่วนหนึ่งเพื่อจัดการอบรมในประเทศอินโดนีเซียและประเทศพม่า และการเดินทางไปให้คำปรึกษากับศิษย์เก่าที่ไปปฏิบัติงานในประเทศของตน และจะผลิตนักศึกษาระดับปริญญาเอก 9 คน และระดับปริญญาโท 8 คน ซึ่งจะมีความเชี่ยวชาญด้านพันธุกรรม ระบบสาธารณสุข เบาหวานและเชื้อ HIV กับวัณโรค และมีโอกาสนำเสนอผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

การได้รับทุนในระดับนานาชาติสะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยแนวหน้าในด้านระบาดวิทยา ที่มีผลงานทั้งด้านวิจัยและการเรียนการสอน การเข้าถึงชุมชนในพื้นที่มากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นการสั่งสมผลงานและคุณภาพทางวิชาการจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ มีนักศึกษาที่จบไปแล้วไปพัฒนาด้านสาธารณสุขอยู่ใน 17 ประเทศในทวีปเอเชียและอัฟริกา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *