นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ ?

เพราะเชื่อว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะเป็นฮีโร่เเก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อฯ ได้ และสามารถทำให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติได้ จึงเกิดประเด็นคำถามว่า นายจ้างบังคับให้ลูกจ้างฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโควิด 19 ได้หรือไม่ และออกประกาศคำสั่งว่าหากไม่ไปฉีดจะไม่จ่ายโบนัส เลื่อนขึ้นเงินเดือนให้พนักงานหรือเลิกจ้างได้หรือไม่

การระบาดในระลอกล่าสุดมีการเพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว การเสียชีวิตจากโควิดก็มากขึ้น โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในสถานประกอบกิจการ ในโรงงานหรือที่พักคนงานก่อสร้าง เหตุผลการแพร่ระบาดดังกล่าวนำมาซึ่งมาตรการของนายจ้าง โดยการออกคำสั่งประกาศให้ลูกจ้างต้องใส่แมส ห้ามเดินทางไปพื้นที่เสียง หรือห้ามไปกินเลี้ยงกันบุคคอื่น หากไปพื้นที่เสี่ยง จะต้องกักตัว ไม่จ่ายค่าจ้าง หรือต้องไปตรวจหาเชื้อให้ปลอดจากโรคแล้วค่อยมาทำงาน หรือออกคำสั่งให้ไปฉีดวัคซีนกับทางการ หรือตามที่นายจ้างจัดให้ฉีด หากไม่ไปจะไม่ให้เข้าทำงานชั่วคราว หรือลงโทษทาง วินัย เลิกจ้าง ตัด หรือไม่ขึ้นค่าจ้าง สวัสดิการ เป็นต้น

ซึ่งมาตรการเหล่านี้ นายจ้างเองได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย กฎหมายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ และไม่ให้มีการแพร่ระบาดในสถานประกอบการหรือที่ทำงาน เพราะหากมีการระบาดอาจถูกทางการสั่งปิด หยุดการผลิต การบริการกระทบต่อรายได้นั่นเอง

ประเด็นคำถามข้างต้น ถ้าการบังคับฉีดวัคซีนของนายจ้างหมายถึง การใช้กำลังกายภาพเอาตัวร่างกายลูกจ้างไปฉีด โดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม อันนี้ก็คงทำไม่ได้เพราะเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายกำหนดให้นายจ้างทำได้ ทำไปก็ผิดกฎหมายอาญา และเป็นการละเมิดสิทธิลูกจ้าง อาจต้องชดใช้ค่าเสียหาย

แต่ถ้านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรที่จะสั่งให้ลูกจ้างในโรงงาน หรือบริษัทไปฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกจ้าง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด อันอาจจะเกิดขึ้นในโรงงาน หรือสถานประกอบการ คำสั่งนั้นยอมชอบด้วยกฎหมาย (เหตุผลอันสมควรนี้ อาจพิจารณาหลายๆ ส่วน เช่น มีการระบาด ติดเชื้อในที่ทำงาน มาแล้ว ประเภทกิจการ ตำแหน่งหน้าที่ลักษะงานของลูกจ้างแต่ละคน  ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือแพทย์  เป็นต้น)

ส่วนคำสั่งนั้นจะเป็นธรรมกับลูกจ้างหรือไม่? ก็ต้องพิจาณาในด้านตัวลูกจ้างคนนั้นประกอบด้วย เช่น เหตุผลทางด้านสุขภาพ โรคประจำตัว ค่าใช้จ่ายในการฉีด หรือเหตุอื่นๆที่ปฏิเสธในการฉีด เป็นต้น

ถ้าคำสั่งที่ให้ลูกจ้างไปฉีด เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกับลูกจ้าง แล้วลูกจ้างไม่ทำตาม นายจ้างก็อาจจะปฏิเสธมิให้เข้าทำงาน หรือ ลงโทษทางวินัย เช่น ออกหนังสือเตือน พักงาน 7 วันไม่จ่ายค่าจ้าง หรือจะเลิกจ้างจ่ายค่าชดเชย หรือเงินอื่นตามสิทธิ

แต่ถ้าจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ก็ต้องพิจารณาว่าไม่ทำตามคำสั่ง ระเบียบที่ให้ไปฉีดวัคซีน เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันเป็นกรณีร้ายแรง หรือไม่  ตาม ม.119(4) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ

การออกมาตรการใดๆเกี่ยวกับการป้องกันโควิด ให้ลูกจ้างปฏิบัติ หรือ ไม่ปฏิบัติ หากลูกจ้างไม่ทำตามหรือไม่ยินยอม แล้วไปกระทบสิทธิของลูกจ้าง หากเอากฎหมายไปตัดสิน ชี้ถูกชี้ผิด ก็จะมีคนชนะ กับคนแพ้  แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาคุยกันด้วยเหตุด้วยผล นึกถึงใจเขา ใจเรา ใช้หลักเเรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการแก้ไขปัญหา ก็จะชนะกันทุกฝ่าย สุดท้ายสังคมโดยส่วนรวมได้ประโยชน์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *