การควบคุมกำกับการขายสินค้าออนไลน์ไม่ได้มาตรฐาน

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันมีการทำธุรกิจการค้าบนเครือข่ายออนไลน์มากขึ้นประกอบกับอุตสาหกรรม E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) ประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซด์(Website) เฟสบุค (Facebook)  อินสตราแกรม (Instagram) ไลน์ (LINE)  ฯลฯ การทำธุรกิจลักษณะดังกล่าว เรียกว่า การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce ซึ่งช่วยให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว การซื้อขายสินทางอินเตอร์เน็ตหรือบนเครือข่ายออนไลน์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ผู้ซื้อจะทำการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางหน้าเว็บไซต์เท่านั้น ไม่เห็นหรือสัมผัสตัวสินค้าก่อนที่จะทำการซื้อเหมือนกับการซื้อในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทั่วไป

ปัญหาที่ตามมาจากการซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์อื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องการฉ้อโกง กล่าวคือ สั่งซื้อสินค้าโดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารหรือผ่านบัตรเครดิตแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าชํารุดบกพร่อง สินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ติดต่อผู้ขายไม่ได้ การโฆษณาโอ้อวดเกินจริงเสมอ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมาจากผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สุจริตหวังแต่เพียงกําไรโดยไม่คํานึงถึงความเสียหายของผู้บริโภค

ผู้ซื้อและผู้ขายจึงควรรู้ถึงสิทธิของผู้บริโภคตามที่กฎหมายได้กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อที่จะทำให้การซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นไปอย่างเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจากการเสนอสินค้าและการบริการผ่านการตลาด และการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคอาจไม่ทราบภาวะตลาดและความจริงเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าและราคาสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการได้รับความเป็นธรรมในสัญญา ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย

เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว หลักดังกล่าวนั้นไม่ได้ใช้เพียงการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียวแต่รวมไปถึงการซื้อขายหรือให้บริการในโลกออนไลน์ด้วย ดังนั้น ผู้ซื้อก็ต้องศึกษาสิทธิของตนเพื่อไม่ให้ถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบ แม้ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ นอกจากการกฎหมายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ายังมีกฎหมายตัวอื่นๆสามารถนำมาปรับใช้กับกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากกฎหมายต่างๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2541 ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มักจะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า 1 ฉบับ ดังนั้น การทราบและรู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความระมัดระวังจากการซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายออนไลน์มากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *