เดือนสิงหาคมที่ผ่านกรมอนามัยได้เปิดเผยข้อมูลแนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 12 นับเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 โดยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยจึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เป็นวัคซีนชนิด mRNA และมีข้อมูลในทิศทางที่ดีจากต่างประเทศและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
ศ.พญ.กมลวิช เลาประสพวัฒนา กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กในประเทศไทยตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถให้ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น 12-18 ปี โดยข้อมูลจากต่างประเทศพบว่ามีผลข้างเคียงที่แตกต่างจากกลุ่มผู้ใหญ่เล็กน้อย คือสามารถก่อให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังจากการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย ประมาณ 5 คน/แสนคน แต่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิต และสามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ ทั้งนี้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์มีความพร้อมของศูนย์ฉีดวัคซีนที่สามารถรองรับผู้เข้ารับบริการได้กว่า 1,000 คนต่อวัน หากได้รับจัดสรรวัคซีนสำหรับกลุ่มเด็กและวัยรุ่น 12-18 ปี ในอนาคตคาดว่าสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ
โดยกรมอนามัยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 12-18 ปีว่า ช่วงแรกจะมุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
“ในอนาคตหากสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ แต่โดยปกติตามลักษณะนิสัยกลุ่มเด็กทั่วไปมักชอบพูดคุย เล่นตามวัย อาจทำให้การเว้นระยะห่างระหว่างกันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หากกลุ่มเด็กและวัยรุ่นได้รับติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ แต่หากเป็นผู้นำเชื้อกลับไปที่บ้านที่มีผู้ปกครอง ผู้สูงอายุ อาศัยอยู่ร่วมกันก็อาจส่งผลก่อให้เกิดอันตรายต่อกลุ่มดังกล่าวได้”– ศ.พญ.กมลวิช เลาประสพวัฒนา กล่าวเพิ่มเติม