ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ แจ้งเตือนเรื่องมิจฉาชีพออนไลน์ การหลอกลวงเพื่อโจรกรรมทางการเงิน หรือข้อมูลส่วนตัว (Phishing) ซึ่งปัจจุบันมีเทคนิคและรูปแบบในการหลอกลวงที่แนบเนียนมากขึ้น ทั้งเว็บไซต์ปลอมหลอกให้ลงทะเบียน, SMS ปลอมยืนยันข้อมูลส่วนตัว พร้อมเน้นย้ำให้สังเกตหากได้รับข้อความสั้น หรือ SMS หลอกลวงจากมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการ โดยใช้วิธีการส่งลิงค์ ห้ามกดและกรอกข้อมูลใดๆ เป็นอันขาด เพราะหากกดลิงค์ กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือทำการใดๆ อาจจะทำให้พลาดสูญเสียเงิน หรือถูกนำข้อมูลไปใช้ก่อให้เกิดความเสียหายได้
ดร.โสภี สงวนดีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ กล่าวถึงกลลวงมิจฉาชีพที่ส่ง SMS หลอกลวง เช่น แจ้งเงินเข้าบัญชีจำนวนมาก บัญชีของคุณถูกแจ้งปิดบริการ ธนาคารแจ้งอัพเดทระบบ หรือข้อความแจ้งการกดเงินสำเร็จทั้งที่ไม่ได้กระทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคาร เพื่อหลอกลวงให้กดลิงค์ที่แนบมา ซึ่งหากประชาชนกดลิงค์ดังกล่าวแล้วเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือทำการใดๆ จะทำให้ต้องสูญเสียเงิน หรือถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ เน้นย้ำหากได้รับข้อความ SMS หรือช่องทางใดก็ตามให้พิจารณาไม่กดลิงค์ดังกล่าว หากมีการแอบอ้างสถาบันการเงินให้ทำการตรวจสอบไปยังสถาบันการเงินนั้นๆ หรือที่เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th) และเบื้องต้นได้ประสานงานความร่วมมทอกับ กสทช ในการดำเนินการป้องกันและพัฒนาการแฮกหรือเข้าถึงระบบโดยมิชอบ
ช่องทางการแจ้งหากได้รับข้อความ SMS หลอกลวง
- ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ Call Center 1599
- สำนักงาน กสทช. Call Center 1200
- ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ซึ่งตั้งอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย Call Center 1213
ทั้งนี้การกระทำในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ในประการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง