ม.อ. ร่วมกับ OR คาเฟ่อเมซอน ศึกษาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกจากองค์ความรู้งานวิจัย ตอบโจทย์ BCG

วันนี้ (18 พ.ย. 64) ที่ Café Amazon (คาเฟ่ อเมซอน) ปตท. สาขาทางเข้าสนามบิน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่งมอบเฟอร์นิเจอร์หวายเทียมจากงานวิจัย แก่คาเฟ่อเมซอน โออาร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการศึกษาแนวทางการ upcycling พลาสติกเหลือทิ้งผสมร่วมกับยางพารา โดยใช้องค์ความรู้งานวิจัยของ ดร. ณัฐพนธ์ อุทัยพันธุ์ และ ดร.กานดา เซ่งลอยเลื่อน เป็นฐานเพื่อผลิตเป็นวัสดุจักรสานสำหรับเฟอร์นิเจอร์จากยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ตอบโจทย์ BCG ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ คาเฟ่อเมซอน โออาร์ ภายใต้แนวคิด นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก”

โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์  พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายระบบขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัทนชัย สุทธิพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  อาจารย์วรสันต์ โสภณ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ร่วมส่งมอบ โดยมีนายนิวัฒน์ จิตจำนงค์เมต ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจร้านคาเฟ่อเมซอน และนายธนภัทร บุญญะเลิศลักษณ์ ผู้จัดการส่วนขายและบริหารร้านแฟรนไชส์คาเฟ่อมเซอน รับมอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์ต้นแบบนี้นักวิจัย ม.อ. ได้ร่วมหาแนวทางการลดขยะโดยการขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบและร่วมทดลองใช้กับ  คาเฟ่ อเมซอน โออาร์ โดยงานวิจัยนี้ซเป็นเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปใเทอร์โมพลาสติกเหลือทิ้งผสมกับยางธรรมชาติให้เป็นเนื้อเดียวกันด้วยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน วัสดุที่เตรียมได้สามารถแปรรูปได้เหมือนเทอร์โมพลาสติก คือใช้เวลาในการแปรรูปสั้นเพียงขั้นตอนเดียว มีความนิ่มคล้ายยาง ไม่สะสมความร้อน ใช้งานได้ทนทาน ออกแบบสีสันได้ตามต้องการ และไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ สามารถใช้งานได้ทั้งในอาคารและพื้นที่กึ่งร่มกึ่งแจ้ง โดยส่วนหนึ่งของงบประมาณการสนับสนุนงานวิจัยนี้ได้รับการอุดหนุนจากการยางแห่งประเทศไทย

วัสดุที่นำมาใช้สามารถตอบโจทย์ BCG คือ B – Bio based material วัสดุหลักที่ใช้ในการพัฒนาวัสดุชนิดนี้คือยางธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนผสมอยู่ในต้นแบบผลิตภัณฑ์มากถึงร้อยละ 50 C – สามารถนำพลาสติกเหลือทิ้งหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และ G – เป็น Zero waste วัสดุที่เตรียมสามารถนำกลับมา recycle ได้ 100%

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนละงู (สตูล) และ ควนลัง (สงขลา)  ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพลาสติกเหลือทิ้งและยางธรรมชาติ ผ่านการแปรรูป และส่งต่อไปยังชุมชน เพื่อผลิตเป็นต้นแบบการจักรสานก่อนส่งต่อไปประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *