“ไข่” ไร้ Food Waste พัฒนาเปลือกไข่ เป็นตัวดูดซับฟอร์มัลดีไฮด์ ในเฟอร์นิเจอร์และสารเคมีตกค้าง

ในแต่ละปี ประเทศไทยมีการบริโภคไข่ ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ ไข่เป็ด หรือไข่นกกระทา เป็นจำนวนหลายล้านฟอง ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม เรียกได้ว่า “ไข่” เป็นวัตถุดิบยอดนิยม ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเปลือกไข่จำนวนมหาศาล และด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่หลุมฝังกลบที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล รวมทั้งแนวทางการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด การนำของเหลือทิ้งหรือของเสียต่างๆ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงได้รับความนิยมมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวคิด “ทำอย่างไรเปลือกไข่ที่ไร้ค่าจะได้รับการนำมาใช้หรือผลิตให้เป็นประโยชน์” นี่จึงเป็นแนวคิดของงานวิจัยชิ้นนี้

ดร.วิศนีย์ ยิ่งประเสริฐ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เล่าว่า หลายคนคงคุ้นชินกับการใช้เฟอนิเจอร์ใหม่ ในชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนสังเกตุ คือ ตอนที่เราซื้อเฟอร์นิเจอร์มาใหม่ๆเราจะรับรู้กลิ่นบางอย่างจากเฟอร์นิเจอร์ชนิดนั้นๆ ซึ่งส่วนต่างๆของกลิ่นนั้นคือ ฟอร์มัลดีไฮด์ ฟอร์มัลดีไฮด์ คือ ส่วนประกอบของกาวที่เราใช้ในการผลิตชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เมื่อผู้บริโภคซื้อไปใช้ จะได้กลิ่นของ ตัวฟอร์มัลดีไฮด์ที่ยังคงค้างอยู่ ซึ่งหากทำการสูดดมกลิ่นของฟอร์มัลดีไฮด์เข้าไปมากๆ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้

“ปกติฟอร์มัลดิไฮด์ จะมีการระเหยไปตามธรรมชาติแต่จะใช้เวลาค่อนข้างนาน เมื่อผู้บริโภคซื้อเฟอร์นิเจอร์ไปใช้เลยทันที จะมีการสูดดมเข้าไป ก็จะเป็นอันตรายได้”

“โดยปกติผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีการใช้กาว ก็จะมีการกำหนดค่ามาตรฐาน เพื่อลดการระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ โดยจะมีสัญลักษณ์ E1 E2 E0 จะบ่งบอกได้ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนั้นมีฟอร์มัลดีไฮด์ระเหยออกมาเท่าไหร่”

ดร.เชาวนา ยี่รงค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าว่า เราจะเห็นโรงงานผลิตไข่เค็ม หรือผลิตภัณฑ์จากไข่ แล้วมีเปลือกไข่เต็มไปหมด จึงนำมาเป็นโจทย์ร่วมกับการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยจุดเริ่มต้นทำการใช้กับการกำจัดน้ำเสีย แล้วได้ผลลัพธ์ดีมาก นี่จึงเป็นที่มาของการนำเปลือกไข่ไปใช้ดูดฟอร์มัลดีไฮด์จากเฟอนิเจอร์ ทั้งนี้ลักษณะของตัวดูดซับจากเปลือกไข่ เป็นการนำเปลือกไข่ไปผ่านกระบวนการเปลี่ยนโครงสร้างของเปลือกไข่ เพื่อได้เป็นตัวดูดซับ เพราะหากนำเปลือกไข่ที่ไม่ผ่านกระบวนการไปใช้ ก็จะไม่สามารถดูดซับกลิ่นได้ โดยองค์ประกอบของเปลือกไข่ 90% หลักๆ คือแคลเซียม ซึ่งตัวแคลเซียมในรูปเบื้องต้น คือแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งไม่มีคุณสมบัติในการดูดซับ จึงต้องทำการเปลี่ยนแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นแคลเซียมออกไซด์ โดยใช้อุณภูมิที่สูงจากการเผา แล้วทำการบดจนได้เปลือกไข่ที่มีลักษณะคล้ายขี้เถ้า

กลไกในการดูดซับจากเปลือกไข่ จะมีอยู่ 2 ประเภท

1. กลไกการดูดซับทางกายภาพ

  • เปลือกไข่จะมีรูพรุนอยู่เยอะ จึงสามารถดูดซับสารต่างๆเข้ามาไว้ในรูพรุนได้

2. การดูดซับทางเคมี

  • พื้นที่ผิวของเปลือกไข่จะมีสารเคมีอยู่ นั่นคือ แคลเซียมออกไซด์ หลังจากนั้นสารเคมีดังกล่าวสามารถทำปฏิกิริยากับสารที่เราต้องการกำจัด ไม่ว่าสารนั้นจะอยู่ในน้ำหรืออากาศ แคลเซียมออกไซด์ในเปลือกไข่ก็จะทำหน้าที่ดูดซับได้ทั้งหมด

มาตรฐานการวัดค่าฟอร์มัลดีไฮด์ที่ใช้กันทั่วไปสำหรับ MDF จะยึดมาตรฐานเดียวกับทางยุโรป คือใช้ค่า Emission เช่น Super E0, E0, E1, E2

  • E2 คือคลาสที่นิยมใช้สำหรับงานไม้และเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปในเมืองไทย โดยใช้การระบายถ่ายเทอากาศเพื่อให้สารฟอร์มัลดีไฮด์ลดลงก่อนที่จะเข้าใช้งานในบริเวณดังกล่าว หรือสามารถลดการปล่อยสารได้ด้วยการใช้แผ่นเมลามีนปิดผิวไม้หรือทำสีเคลือบผิว เป็นต้น
  • E1 คือคลาสที่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์เจือปนไม่เกิน 0.1 ppm ซึ่งเหมาะสำหรับทุกคนที่ห่วงใยในสุขภาพเป็นพิเศษ นิยมใช้ในงานเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในโรงพยาบาล บ้านพักคนชรา ของเล่นเด็ก และเหมาะสำหรับใช้ในการตกแต่งภายในบ้านพักอาศัย และอาคารทั่วไป
  • E0 มีคุณสมบัติที่ดีกว่าคลาส E1 ซึ่งไม้ที่ผ่านมาตรฐาน E0 คือมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ปนเปื้อนไม่เกิน 0.07 ppm
  • Super E0 เป็นไม้ที่พัฒนาจากไม้ E0 ขึ้นอีกระดับหนึ่ง เป็นไม้ที่มีระดับฟอร์มัลดีไฮด์ต่ำมากจนเทียบเท่ากับไม้ธรรมชาติ แต่ราคาของสินค้าก็จะสูงขึ้นตามคุณภาพด้วยเช่นกัน

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการพัฒนาวิธีการที่ง่ายต่อการผลิตเพื่อให้ผู้ที่สนใจ สามารถนำไปผลิตและต่อยอดเทคโนโลยีเองได้ โดยมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นจากการล้างเปลือกไข่ที่รวบรวมได้ให้สะอาดแล้วนำไปเผาในเตาเผาที่อุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำมาบดและร่อนเพื่อให้ได้ตัวดูดซับเปลือกไข่ที่มีขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร ผู้ผลิตควรเก็บตัวดูดซับเปลือกไข่ไว้ในภาชนะปิดเพื่อให้ตัวดูดซับเปลือกไข่ที่ผลิตได้มีคุณภาพดีและปราศจากความชื้น อันจะทำให้ความสามารถในการดูดซับลดลงหากต้องการทำเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ควรใช้การบรรจุในถุงเยื่อโปร่งเพื่อเพิ่มความสามารถในการดูดซับกลิ่นหรือสารระเหยได้มากขึ้น

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *