แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคระบบหายใจ ม.สงขลานครินทร์ แนะวัณโรครักษาหายได้หากผู้ป่วยกินยาครบ พบหมอตามนัด

รศ.พญ.วรางคณา กีรติชนานนท์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยโรคระบบหายใจและภาวะวิกฤตระบบหายใจ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  ม.สงขลานครินทร์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียMycobacterium tuberculosis พบมากในประเทศเขตร้อนชื้นสำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยกระจายอยู่ทุกภูมิภาคและเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทยเนื่องจากพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในแต่ละปีค่อนข้างเยอะ วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อกันง่ายผ่านละอองฝอยจากการไอและจามที่ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ (เชื้อที่แฝงอยู่ในละอองเสมหะประมาณ 30% สามารถมีชีวิตอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง) มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจหากผู้ป่วยได้รับเชื้อผ่านการสูดหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรงพบบ่อยที่สุด คือ วัณโรคปอด อาการเริ่มต้นส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการไอนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งอาการไอจะมีผลต่อทางเดินหายใจส่วนล่าง (ปอด หลอดลม) มีเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการไอนานๆ มักก่อให้เกิดโพรงแผลในปอดและทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดร่วมด้วยจะส่งผลให้มีการไอเป็นเลือด

อย่างไรก็ตามวัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้มากกว่า 90% หากผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างน้อย 6 เดือนและพบแพทย์ตามกำหนด แต่หากผู้ป่วยกินยาไม่ครบหรือหยุดยาเองมีโอกาสที่เชื้อจะดื้อยา ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยบางรายไม่สามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค BCG vaccine ในเด็กทารกทุกคนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้รับมือกับเชื้อวัณโรคโดยสามารถป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80%

กลุ่มเสี่ยงต่อการติดวัณโรคสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ที่กินยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เช่น คนไข้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด ยาสเตียรอยด์ รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ เป็นต้น
  2. ผู้ที่มีสุขภาพดีแข็งแรงแต่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะสถานพยาบาล หรืออาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อ

รศ.พญ.วรางคณา กีรติชนานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมุมมองทางการแพทย์มองว่าวัณโรคเป็นโรคของสังคม ครอบครัว เนื่องจากหากพบผู้ป่วยวัณโรคต้องติดตามสังเกตอาการคนครอบครัว เพื่อนร่วมงานหรือคนใกล้ชิด โดยการให้แนะนำการตรวจเช็คว่ามีการรับเชื้อวัณโรคหรือไม่ ตามหลักการของการควบคุมวัณโรคต้องพยายามให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษากินยาให้เร็วที่สุดเพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อต่อผู้อื่น นอกจากนั้นยังมีผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง คือผู้มีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่มีอาการและ ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ สามารถแฝงอยู่ในร่างกายนานหลายปีแต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อได้ เชื้อวัณโรคจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรคได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *