แพทย์ รพ.สงขลานครินทร์ แนะนำลดอาหารเค็ม หวาน มัน คาเฟอีน เน้นโปรตีนและแป้งไม่ขัดขาว ผู้ที่มีโรคประจำตัวห้ามหยุดยา ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนถือศีลอด

การถือศีลอดคือช่วงเวลาที่อดอาหาร อดน้ำของชาวไทยมุสลิมตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน แพทย์ประจำบ้าน ม.สงขลานครินทร์ จึงมีคำแนะนำสำหรับการรับประทานอาหารในช่วงถือศีลอดควรรับประทานอาหารที่สุก สะอาด เน้นอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด อาหารที่มีไขมันสูง มื้อเย็นไม่ควรทานอาหารมากเกินไปเพราะอาจทำให้มีอาการท้องอืดและอาการกรดไหลย้อน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพเป็นรายบุคคล 

นพ.ยศกร ละมัยสะอาด แพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จึงแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ที่ถือศีลอดในเบื้องต้น ดังนี้

  • ควรรับประทานอาหารที่สุก ใหม่ สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เค็มจัดเนื่องจากจะทำให้กระหายน้ำระหว่างวัน
  • ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย กระเพาะอาหารทำงานไม่หนักเกินไปและสามารถใช้พลังงานจากอาหารได้อย่างเต็มที่       
  • ควรเลือกทานอาหารประเภทการนึ่ง ต้ม ตุ๋น เลี่ยงอาหารประเภททอด
  • อาหารมื้อแรกแนะนำให้รับประทานจำพวกแป้งไม่ขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโอลวีต ส่วนจำพวกโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ขาว ถั่ว เป็นต้น
  • อาหารมื้อเย็นควรทานอินทผาลัม เพราะเป็นผลไม้ที่มีธาตุอาหาร ใยอาหารร่างกายสามารถแปลงเป็นพลังงานให้ร่างกายได้อย่างดี
  • ไม่ควรทานเยอะจนเกินไป เนื่องจากจะทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • เลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารย่อยและลดการเกิดกรดในกระเพาะต้นเหตุของโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน
  • เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากจะทำให้มีการขับน้ำในร่างกายมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยและเพิ่มความอยากการดื่มน้ำมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน โรคเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังที่ประสงค์ตั้งใจถือศีลอด ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาเป็นประจำได้ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มถือศีลอดเพื่อขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง โดยมีคำแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ถือศีลอดที่มีโรคประจำตัว ดังนี้

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่เหมาะกับการอดอาหารมากที่สุด เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการปรับยาให้เหมาะสมกับการถือศีลอด และไม่ควรปรับหรือหยุดยาเอง
  • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ในคนที่รักษาควบคุมระดับความดันได้มักไม่ค่อยมีปัญหาสามารถถือศีลอดได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม หวาน เผ็ดจัด เลี่ยงการปรุงด้วยผงชูรสและอาหารแปรรูปที่มีปริมาณโซเดี่ยมสูง
  • ผู้ป่วยโรคนิ่วหรือมีประวัติการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ไม่ควรถือศีลอดเนื่องจากต้องอดน้ำจะส่งไม่ดีผลต่อสุขภาพ

นพ.ยศกร ละมัยสะอาด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ของจังหวัดสงขลาในระยะนี้ที่ยังมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อสูงขึ้น อาจจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรค ทั้งภายในครอบครัวและชุมชนได้ ดังนั้นหลีกเลี่ยงการทักทาย หรือ “สลาม” ด้วยการสัมผัสมือ การสวมกอดและการสัมผัสแก้ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน งดไปร่วมละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดและให้ปฏิบัติศาสนกิจภายในบ้าน หากสัมผัสบุคคลหรือไปสถานที่เสี่ยง เมื่อกลับเข้าบ้าน ให้รีบทำความสะอาดร่างกายทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *