สงขลายังไม่เจอปะการังฟอกขาว ศูนย์วิจัยฯ เฝ้าติดตามสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด พบเพียงปะการังสีซีดเป็นจุดๆ

ปะการัง เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในพวกชีเลนเทอราดา (Coelenterata) กลุ่มเดียวกับดอกไม้ทะเล และ แมงกะพรุน ต่างกันที่ปะการังจะสร้างหินปูนเป็นฐานแข็งแรง มีลักษณะเด่น คือ มีโพรงในลำตัว และมีเนื้อเยื้อ 2 ชั้น ในตัวปะการัง มีสาหร่ายเซลล์เดียวเรียกว่า ซูแซนเธอลี่ (Zooxanthellae) จำนวนมาก อาศัยอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยจะทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหาร และสร้างสีสันให้แก่ปะการัง

คุณ ราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กล่าวว่า สาเหตุการเกิดปะการังฟอกขาว มาจาก อุณหภูมิอากาศและน้ำทะเลสูงกว่า 32 องศาฯ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 อาทิตย์ หรือตะกอนปริมาณมากปกคลุมปะการัง จนทำให้ปะการังไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเธอลี่ถูกทำลาย จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

จากการเก็บข้อมูลสถิติการศึกษาวิจัย บริเวณเกาะหนู เกาะแมว ของศูนย์วิจัยฯ ติดตั้งอุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิน้ำทางด้านทิศเหนือของเกาะแมว พบว่าพื้นที่แนวปะการังประมาณ 31 ไร่ มีสภาพสมบูรณ์ดี เนื่องจากในบริเวณนั้นอยู่ด้านฝั่งทะเลอ่าวไทย มีระดับน้ำลึกเพียงแค่ 1 – 1.5 เมตร ส่วนปะการังที่อาศัยอยู่ในทิศใต้ของเกาะแมว มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีปะการังสภาพเสื่อมโทรม สาเหตุหลักมาจากตะกอนไปปกคลุมเป็นจำนวนมาก เพราะทิศใต้ของเกาะแมวอยู่ใกล้กับปากน้ำของทะเลสาบสงขลา

ผอ. ราตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปะการังในพื้นที่บริเวณโดยรอบของเกาะหนู เกาะแมว ยังไม่พบการฟอกขาวของปะการังแต่มีลักษณะสีซีดเป็นจุดตามบริเวณที่ตะกอนปกคลุมเท่านั้น ส่วนการเฝ้าระวังและสังเกตการณ์ ทางศูนย์วิจัยได้ติดตั้งเครื่องเก็บอุณหภูมิน้ำทะเลระยะยาว (Datalogger) สามารถบันทึกและประเมินภาพรวมของสถานการณ์ได้ทันที พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ลงสำรวจปะการังเพื่อเก็บข้อมูลทุกๆ 15 วัน และสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าของนักวิจัยอีกด้วย   

อ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *