ผอ.สวพ.6 จันทบุรี ย้ำปัญหาทุเรียนอ่อนแก้ไขได้ หลังปีนี้ประสบความสำเร็จแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนส่งออกตปท.

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลสถิติการส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกสู่ประเทศจีน ณ วันที่ 25 มิ.ย.65 มีทุเรียนจากโรงคัดบรรจุภาคตะวันออกส่งออกไปประเทศจีนกว่า 500,000 ตัน มูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งปริมาณอยู่ที่ 452,000 ตันเพราะพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ปลูกของภาคตะวันออกขยายตัวประมาณแสนไร่ และแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เกษตรกรหลายคนเริ่มเปลี่ยนจากยางพารา เงาะ เป็นทุเรียนตั้งแต่ปี 2556 เรื่อยมา คาดว่าอีกไม่กี่ปีปริมาณผลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออกอาจถึง 1,000,000 ตันต่อปี

ส่วนปัญหาทุเรียนอ่อนซึ่งเรื้อรังมากว่า 30 ปีๆนี้ทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร คนตัดทุเรียน โรงแยกคัดบรรจุ หน่วยงานรัฐ และฝ่ายปกครองระดมความร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาจนผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ

จำนวนโรงคัดบรรจุทุเรียนเกือบ 500 โรงมีสีแดงอยู่อีกส่วนหนึ่ง ตัวเลขประมาณ 30 ล้งที่เป็นสีแดงที่จะต้องเฝ้าระวังจับตา ล้งสีแดงส่วนใหญ่จะเป็นล้งพ่อค้าคนจีน ที่หิ้วกระเป๋าเข้ามาใบเดียวแล้วก็มาเช่าล้ง ซื้อขายทุเรียนระยะสั้นแต่สร้างเสียหายระยะยาวไว้กับเราๆก็ต้องเฝ้าจับตามอง พวกนี้คือมาเอากำไรระยะสั้นๆ ไม่ได้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เราต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

คุณชลธี นุ่มหนู
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร

กรมวิชาการเกษตรได้ตั้งชุดทำงาน “ทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย” ทำหน้าที่ตรวจทุเรียน ดำเนินคดี สร้างการรับรู้และร่วมมือกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการจัดเกรดโรงคัดบรรจุออกเป็นสีเขียว เหลือง แดง สีเขียวคือโรงคัดที่ทำคุณภาพ ไม่มีทุเรียนอ่อน  สีเหลืองอาจจะเจอทุเรียนอ่อนบ้าง แต่ไม่มาก อยู่ในสถานะเฝ้าระวัง ส่วนสีแดงคือล้งที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ส่วนใหญ่ล้งสีแดงมีไม่มาก ซึ่งโรงคัดบรรจุในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมดจะมีเครื่องมือวัดประเมินทุเรียนอ่อน ซึ่งผ่านการอบรมจนสามารถตรวจได้ทั้งตรวจศัตรูพึชและตรวจวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ผอ.ชลธีเล่าถึงวิธีการตรวจสอบในโรงคัดบรรจุว่าเริ่มจากหาทุเรียนลูกที่คิดว่าอ่อนที่สุดโดยดูจากลักษณะภายนอก เช่น สีหนาม เปลือกและขั้ว มาผ่าตามขวางและเอาเนื้อมาหั่นให้ละเอียด แล้วอบในเตาไมโครเวฟ อบแล้วชั่งหลายครั้งซ้ำๆ จนกระทั่งน้ำหนักคงที่ ค่อยคำนวณหาเปอร์เซ็นต์เนื้อแห้งว่าได้กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วนำเปอร์เซ็นต์ที่ได้เปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานถ้าต่ำกว่าก็คืออ่อน ซึ่งผลการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันของทุกฝ่ายทำให้ปีนี้เจอทุเรียนอ่อนน้อย ผอ.สุธีเล่าว่าจากการตรวจ 2,000 กว่าตัวอย่างที่คัดจากโรงคัดว่าเป็นทุเรียนอ่อนที่สุดแล้วยังเจอทุเรียนอ่อนจริงๆแค่ประมาณ 200 ตัวอย่าง คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของทุเรียนที่คัดจากกายภาพว่าคือทุเรียนอ่อนแล้วแน่ๆ ซึ่งถือว่าภาพรวมของภาคตะวันออกทุเรียนปีนี้ดีมาก

ทางด้านมาตรฐานทุเรียนไทยได้กำหนดความอ่อนแก่โดยใช้เปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียนเป็นเกณฑ์ โดยเฉพาะพันธ์ุการค้า หมอนทอง กระดุม ชะนี พวงมณี เช่น หมอนทองต้องมีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งหรือแป้งไม่น้อยกว่า  32 % พวงมณี 30 % กระดุม 27 %  และกำลังเริ่มพัฒนาเพื่อกำหนดเปอร์เซ็นต์เนื้อแห้งสำหรับพันธุ์การค้าอื่นๆที่ตลาดต้องการไม่ว่าจะเป็นหลงลับแล หรือสาริกา โดยใช้การอบด้วยความร้อนหรือไมโครเวฟทำให้ความชื้นในเนื้อออก อบจนน้ำหนักคงที่ สิ่งที่เหลือคือน้ำหนักเนื้อแห้งหรือก็คือแป้งนั่นเอง

ผลการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนของภาคตะวันออกซึ่งถือว่าปีนี้เป็นที่น่าพอใจ เริ่มต้นจากการประชุมผู้เกี่ยวข้องวงการทุเรียนไม่ว่าเป็นชาวสวน เกษตรกร สมาคมต่างๆ สมาคมชาวสวนทุเรียน สมาคมผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดวันเก็บเกี่ยวเป็นเกณฑ์ให้รู้ว่าเก็บได้วันไหน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรู้ว่าฤดูกาลทุเรียนภาคตะวันออกเริ่มเมื่อไหร่ ตัดได้เมื่อไหร่ ส่วนสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอหรือผู้นำท้องถิ่นก็จะควบคุมเรื่องการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรในสวน สวนไหนจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันเก็บเกี่ยวที่จังหวัดประกาศต้องแจ้งให้เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดหรือผู้นำท้องถิ่นเข้าไปตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งถึงจะเก็บเกี่ยวได้ ถึงจะได้ใบรับรอง โดย ผอ.ชลธียังขยายภาพให้เห็นวงจรทุเรียนอ่อนว่าประกอบด้วยส่วนเกี่ยวข้อง 3 ส่วน คือ เกษตรกรชาวสวน มือตัด และโรงคัดบรรจุ ถ้าตัดส่วนใดออกจากวงจร ปัญหาทุเรียนอ่อนจะไม่เกิดขึ้น ทุเรียนอ่อนเกิดได้เพราะสามกลุ่มร่วมมือกัน  มีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวให้ชาวสวน มีการอบรมให้ความรู้กับมือตัด ถ้าจะตัดก่อนวันเก็บเกี่ยวก็ต้องตรวจหาเปอร์เซ็นต์แป้งก่อน โดยมีหน่วยงานเช่น สวพ.6 ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้ง ส่วนโรงคัดบรรจุสำคัญ เพราะคือปลายทาง คือกลไกควบคุมการส่งทุเรียนไม่อ่อนไปต่างประเทศ หน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 แล้วก็หน่วยงานกรมวิชาการเกษตร แบ่งหน้าที่กันกำกับดูแล

ผอ.ชลธี กล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจว่า “ทุเรียนอ่อนแก้ไขได้ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน แก้ไขด้วยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่อยู่ในวงการทุเรียน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรนี่คือกระดุมเม็ดแรก อันดับแรกก่อนเลยต้องเริ่มจากเกษตรกรก่อน เกษตรกรมีความตั้งใจทำคุณภาพ สองคือมือตัดต้องควบคุมคุณภาพให้ได้ จนถึงโรงคัดบรรจุ ส่วนราชการเข้าไปควบคุมกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐาน ไปตามพิธีสารระหว่างประเทศและฝ่ายปกครองเข้ามาในเรื่องการบังคับใช้กม.เพราะถ้าไม่มีกม.อดีตเราใช้วิธีการสร้างจิตสำนึกแล้วสรุปมาแล้วว่าไม่ได้ผล ต้องบังคับกม.อย่างเดียว ทุกภาคส่วนร่วมมือกันจะแก้ไขตรงนี้”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *