อาจารย์ลภัสวัฒน์ ศุภผลกุลนันท์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ เล่าความเป็นมาของโครงการนี้ในฐานะหัวหน้าโครงการที่เข้าพื้นทีเป้าหมายกลุ่มวิสาหกิจในจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส เมื่อปี 2560 ว่าโครงการคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจมีศักยภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาสนับสนุนต่อ ยกตัวอย่างกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือก เช่น วิสาหกิจเลี้ยงไก่เบตงลัดดาฟาร์ม จ.ปัตตานี กลุ่มวิสาหกิจโคเนื้อจ.ปัตตานี กลุ่มฟาร์มแพะและกลุ่มสหกรณ์โคเนื้อ จ.นราธิวาส โดยในปี 2564 โครงการมีเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์ของกลุ่มซึ่งเดิมแต่ละกลุ่มยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยคณะวิทยาการจัดการ ม.สงขลานครินทร์ เข้าไปดูแลพัฒนาเรื่องการผลิต การขอเครื่องหมายอย. การขอเครื่องหมายฮาลาล การออกแบบบรรจุภัณฑ์ร่วมกับม.นราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งผลที่ออกมาทำให้ทุกกลุ่มมีผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ได้มาตรฐาน ผู้ประกอบการวิสาหกิจก็พึงพอใจเป็นอย่างมาก
อ.ลภัสวัฒน์ ยกตัวอย่าง กลุ่มลดาฟาร์มไก่เบตง ซึ่งเลี้ยงไก่เบตงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นไก่เบตงตุ๋นยาจีน ซึ่งผู้บริโภคตอบรับสินค้าดีมาก หรือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอื่นก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีด้วยเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ของโครงการนี้มี 14 ผลิตภัณฑ์คือ คุ้กกี้นมแพะ นมพาสเจอร์ไรซ์ ไก่เบตงตุ๋นยาจีน เนื้อสไลด์ เนื้อเสียบไม้ เนื้อแพะสวรรค์ บราวน์นี่ช็อกนมแพะ คุ้กกี้นมแพะผักเคล เนื้อโคตุ๋นซอสมัสมั่น เนื้อโคตุ๋นซอสเห็ดหอม โยเกิร์ตนมแพะ ไอศครีมนมแพะ แค็ปวัว เนื้อฝอย โดยทดลองออกงานต่างๆหรือผู้บริโภคสามารถสั่งออนไลน์ได้เพจ “YPN Local Farm ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้”
นอกจากแต่ละกลุ่มวิสาหกิจมีผลิตภัณฑ์ของตัวเองซึ่งถือว่าบรรลุเป้าหมายของโครงการ อ.ลภัสวัฒน์ยังแสดงความคิดเห็นว่าโครงการนี้น่าพอใจเป็นอย่างมากเพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้มีมาตรฐาน กลุ่มวิสาหกิจได้ความรู้ทางด้านการตลาด ได้ทักษะเป็นผู้ประกอบการจริงๆ สร้างแรงบันดาลใจต่อยอดจากการเลี้ยงสัตว์ของกลุ่ม หรือได้รับความรู้เรื่องการจัดจำหน่ายอีกด้วย