กรมอุตุนิยมวิทยา จัดโครงการ “ก้าวสู่เทคโนโลยีดิจิทัลกับการใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา เพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม” เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศ และปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

กรมอุตุนิยมวิทยา ดำเนินการโครงการ “ก้าวสู่เทคโนโลยีดิจิทัลกับการใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา เพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม” เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศ และปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพของประชาชน

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2565 ที่วัดท่าหิน ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ (ดีอีเอส) เปิดโครงการ “ก้าวสู่เทคโนโลยีดิจิทัลกับการใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม” โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คณะผู้บริหารหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดสงขลา และในสังกัดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเกษตรกร ชาวประมงในพื้นที่จังหวัดสงขลาร่วมการเปิดงานในครั้งนี้

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมาโดยตลอด ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการประชาชนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การให้บริการข้อมูลพยากรณ์อากาศผ่านแอปพลิเคชั่น การให้บริการข้อมูลการตรวจวัดสภาพอากาศแบบ Real-Time และการอธิบายลักษณะอากาศโดยผู้พยากรณ์อากาศผ่าน Platform ต่างๆ การตรวจวัดสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนสามารถทราบถึงลักษณะอากาศปัจจุบัน ซึ่งนำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อการพยากรณ์อากาศต่อไป

โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาเครื่องมือตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยา ที่ใช้ตรวจวัดสภาพอากาศ ประกอบด้วยระบบตรวจอากาศอัตโนมัติ ระบบโทรมาตร เรดาร์ตรวจอากาศ หรือดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา สามารถทำให้ข้อมูลลักษณะอากาศที่ตรวจวัดได้มีความถี่ในการตรวจวัดมากกว่าในอดีต โดยสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศได้ในระดับต่ำกว่าชั่วโมง และสามารถตรวจวัดกลุ่มฝนในทะเลหรือบนพื้นที่ ที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดได้  ทำให้การเตือนภัยทางอุตุนิยมวิทยาและการพยากรณ์อากาศมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการใช้อัตรากำลังเท่าเดิม ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถวางแผนในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา องค์กรไม่แสวงหากำไร และภาคประชาชน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อการสร้างการรับรู้ด้านอุตุนิยมวิทยา จนสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาอาชีพต่างๆ ได้ ซึ่งตัวอย่างของความสำเร็จที่ชัดเจนมากในการบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่าย ที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ “การร่วมมือของเครือข่ายฯ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก”

โดยหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงภาคประชาชน สามารถนำข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งศูนย์กลางพายุ การคาดการณ์ การเคลื่อนที่ของพายุ และคาดการณ์เวลาและสถานที่ ที่พายุจะเคลื่อนขึ้นฝั่ง ไปใช้ในการวางแผนเพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ของชุมชนได้ทันสถานการณ์ ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนช่วยสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกในชุมชนให้ทราบข่าวสารที่ถูกต้อง

ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจัดโครงการเครือข่ายความร่วมมือด้านภัยพิบัติเชิงอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยภารกิจการตรวจเฝ้าระวัง ติดตามรายงานสภาวะอากาศและปรากฎการณ์ธรรมชาติ โดยมีภารกิจสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ซึ่งสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ร่วมเตือนภัยธรรมชาติและให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชน ส่งเสริมความเข้าใจ สร้างจิตสำนึก รู้เท่าทันสถานการณ์ข่าวสาร สภาพอากาศ เตรียมพร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านรายการประจำวันและรายการเฉพาะกิจของทางสถานีวิทยุฯ อีกด้วย

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศ และปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ โดยเครือข่ายอุตุนิยมวิทยา ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอุตุนิยมวิทยาจะเป็นส่วนสำคัญในการขยายผลและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสมาชิกในชุมชน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลด้านอุตุนิยมวิทยาได้ ตลอดจนสามารถนำข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ สามารถทำการประมงได้อย่างปลอดภัย สามารถสังเกตสภาพลมฟ้าอากาศ ลักษณะคลื่นทะเล เพื่อประโยชน์ในการช่วยแจ้งเตือนสภาพอากาศ รวมถึงการเป็นเครือข่ายอาสาสมัครในการสื่อสารแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือการประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วทันสถานการณ์

โครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ เกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการ ผู้สนใจ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 200 คน ประกอบด้วย การบรรยายความรู้การเข้าถึงข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และตัวอย่างการประยุกต์ใช้งาน , การมอบประกาศเกียรติบัตรต้นแบบเครือข่ายอุตุนิยมวิทยาที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในจังหวัดสงขลา จำนวน 5 สาขา ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สาขาภัยพิบัติ สาขาการเกษตร (นาข้าว) สาขาการเกษตร (สวนยางพารา) และสาขาการประมง , โดยมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยากับมหาวิทยาลัยทักษิณ และการจัดนิทรรศการจากองค์กรเครือข่าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *