“ม.อ.ขับเคลื่อน Deep South Innovation พัฒนาผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม บ่มเพาะ พัฒนา เพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้ธุรกิจ”

“ม.อ.ขับเคลื่อน Deep South Innovation พัฒนาผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรม บ่มเพาะ พัฒนา เพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้ธุรกิจ”

ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร ม.อ. เปิดเผยว่าสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA สนับสนุนงบประมาณโครงการ Deep South Innovation พัฒนาบ่มเพาะผู้ประกอบการผลักดันให้เกิดสินค้านวัตกรรม เพิ่มโอกาสการตลาดใหม่ให้ผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขับเคลื่อนโครงการด้วยโปรแกรมพัฒนาผู้ประกอบการ Deep South Innovation Business Coaching Program รับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดและยากในการลอกเลียนแบบ เพิ่มนวัตกรรม โดยโครงการเป็นโค้ชชิ่งหรือพี่เลี้ยง อบรมบ่มเพาะให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและช่วยพัฒนาโครงการเพื่อส่งต่อขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA พื้นที่เป้าหมายโครงการคือ 5จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ดำเนินโครงการเป็นปีที่ 5 อ.ปุณณาณีย้ำว่า มีเพียงพื้นที่ 5จังหวัดเท่านั้นที่มีกระบวนการเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ เพราะโครงการนี้ที่ดำเนินการจังหวัดอื่นจะให้ผู้ประกอบการยื่นขอทุนโดยตรงกับ NIA โดยไม่สนับสนุนให้ทุนในการจัดอบรม ขั้นตอนของDeep South Innovation Business Coaching Program เริ่มด้วยการรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจ หลังจากนั้นคณะกรรมการจะคัดเลือก ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการพัฒนา หลังจากนั้นจะนำโครงการเสนอขอรับทุนจาก NIA ซึ่งการทำโครงการผู้ประกอบการจะต้องเริ่มต้นทำมาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมที่จะนำเข้าเสนอขอรับทุนแล้ว

ผศ.ดร.ปุณณาณี สัมภวะผล ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผลผลิตจากโครงการ Deep South Innovation Business Coaching Program ปีที่ผ่านมา โครงการแรก  LARTOS การเลี้ยงสาหร่ายขนนกในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิด โครงการของผู้ประกอบการจังหวัดสตูล คุณวศินะ รุ่งเรือง นักศึกษาปริญญาโทที่ทำโปรเจคเรื่องสาหร่ายขนนก  มีแนวคิดแต่แรกเริ่มยังไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ ที่บ้านมีบ่อสาหร่ายบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาแต่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เข้าโครงการอบรมได้ 8 สัปดาห์ กลายมาเป็นโครงการเลี้ยงสาหร่ายขนนก ที่เพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี ครบวงจร ลดการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม กลายเป็นผู้ประกอบการ รับทุนเมื่อปี 2562 
NIA ให้ทุนและติดตามอย่างต่อเนื่อง หาตลาดให้ ช่วยบ่มเพาะการคิดค้น อบรมเรื่องBusiness modelให้ วางแผนต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ ระบบบริหารจัดการบัญชี บริหารจัดการเงิน รวมถึงการนำเสนอโครงการ ติวให้สามารถนำเสนอและเขียนโครงการ ดูแลจัดการงบการเงินในบริษัทและแผนธุรกิจหลังจากได้รับงบสนับสนุนโครงการ

โครงการที่ 2 : KENMAI ขนมอบกรอบเพื่อสุขภาพผสมข้าวกล้องเม็ดฝ้าย 62 ของนายชีวนันต์ ชีทรัพย์เจริญ บริษัท s.p.c snackfood จำกัด ผู้ประกอบการจังหวัดสงขลา เข้าอบรม 8 สัปดาห์เพื่อพัฒนาบ่มเพาะแนวคิด วิเคราะห์หาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และสามารถขอทุน NIA ได้ ซึ่งผู้ประกอบการ มีโรงงานทำขนมอยู่แล้ว  ต้องการต่อยอด เปลี่ยนจุดด้อยของขนมพลังงานสูง โซเดียมสูง ให้กลายเป็นขนมที่ดีต่อร่างกาย เกิดเป็นโครงการพัฒนาขนมสุขภาพ พลังงานต่ำ โปรตีนสูง โดยใช้ข้าวกล้องแทนแป้งสาลี คนแพ้กลูเตนทานได้ ปรับสูตรให้น้ำตาล ไขมัน และเกลือต่ำ กลายเป็นขนมอบกรอบเพื่อสุขภาพเหมือนกินข้าวทานได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ข้าวกล้องเม็ดฝ้ายขึ้นทะเบียน GI หรือสินค้าส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชในปี 2562 ข้าวมีสีดำสนิทเหมือนเม็ดฝ้าย จึงเรียกว่าข้าวกล้องเม็ดฝ้าย 62 ตามปีที่ขึ้นทะเบียนGI ข้าวมีจุดเด่นคือ สาร Anthocyanin สูง สีดำเข้มและโปรตีนสูงจากส่วนจมูกข้าว การทานข้าวกล้องจะได้ทั้งโปรตีน ไขมันดี และไฟเบอร์ โครงการนี้ใช้เทคโนโลยีการผลิตเดิมของโรงงาน แต่พัฒนาสูตร ปรับแนวคิด ปรับแผนการตลาดใหม่ เจาะกลุ่มตลาดสุขภาพมากขึ้น สินค้าได้รับกระแสตอบรับดี พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ฐานลูกค้าและตลาดขยายกว้างกว่าเดิมโดยใช้จุดเด่นคือขนมเพื่อสุขภาพ

โครงการที่ 3 : Hi-Sarang เครื่องดื่มเสริมโปรตีนไฮโดรไลเสตจากเศษรังนก ของคุณมูฮำหมัดอามีน หะยีหามะ บริษัท ฮามีนฟู้ดจำกัด จ.ปัตตานี เป็นผู้ประกอบการขายรังนกหลายเกรดตั้งแต่เกรดดีเยี่ยมจนถึงเศษรังนกที่ปนเปื้อนขนนกค่อนข้างเยอะและสีไม่สวย ราคาถูกมาก เป็นเศษรังนกไม่ได้คุณภาพ ผู้ประกอบการมีวันถุดิบและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะ มีแนวคิดธุรกิจดีแล้ว แต่ร่วมโครงการบ่มเพาะ ต้องการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของตัวเอง มีโจทย์ชัดเจนว่าจะพัฒนาเศษรังนกเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่ยังไม่มีข้อมูลผลงานวิจัย  โครงการเลยจับคู่กับงานวิจัยของ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อาจารย์มีองค์ความรู้เรื่องการทำโปรตีนไฮโดรไลเสตจากเศษรังนกโดยที่ไม่ต้องดึงเศษขนออก สุดท้ายกลายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เสริมโปรตีนไฮโดรไลเสตจากเศษรังนก

สูตรผลิตภัณฑ์เป็นน้ำลูกพรุนผสมโปรตีนไฮโดรไลเสต ทานง่ายดีต่อสุขภาพ ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ได้เครื่องหมายอย.แล้ว เหลือเพียงรอรับรองฮาลาล ทาง NIA ได้ผลักดันผลิตภัณฑ์นี้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ บวกกันถ้าได้เครื่องหมายฮาลาลก็พร้อมส่งออกต่างประเทศ

อ.ปุณณาณีกล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีทุนค่อนข้างหลากหลาย ส่วนที่ทำอยู่ตอนนี้เรียกว่า open innovation เป็นหนึ่งในหลายหมวดการให้ทุน อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ดูแลโครงการ คณะอุตสาหกรรมการเกษตรดูแลเขตภาคใต้ชายแดน ถ้าผู้ประกอบการในจังหวัดอื่นของภาคใต้สามารถติดต่อที่อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ ส่วนผู้ประกอบการใน 5 จังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโครงการติดต่อที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรเพื่อการส่งออก โทรศัพท์ 074-286370 หรือเพจ Deepsouth Innovation

ผลิตข่าวโดย : นางสาวศรุตา ชาญณรงค์ และ นางสาวพัชรพร บัวตูม (นักศึกษาฝึกสหกิจ คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทยประยุกต์)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *