บพท. จับมือ มหาวิทยาลัย ดัน ซอฟต์ พาวเวอร์ ผ่านมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมของภาคใต้

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ 33 จังหวัด 41 สถาบัน หนุนเสริมพลังโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมภาคีเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ศิลปิน และผู้ประกอบการวัฒนธรรม เดินหน้าจัดงาน“มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง” 4 ภูมิภาค ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาสู่ซอฟต์ พาวเวอร์ จัดแสดงในงาน เพื่อหยั่งรากสำนึกท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมศิลปินและผู้ประกอบการวัฒนธรรม พร้อมโชว์ระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย เป็นแหล่งรวมสืบค้นต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรทุนทั้งสิ้น 48 โครงการ กระจายใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ และมีผลการดำเนินงานที่มีสัมฤทธิผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักในคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม เยาวชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID 19 มีโอกาสในด้านอาชีพและสร้างรายได้ ยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เกิดการกระจายรายได้สู่เมืองรอง ด้วยผลลัพธ์เหล่านี้จากโครงการวิจัย บพท. เล็งเห็นว่า การสร้างการรับรู้ของสาธารณะ ต่อการสนับสนุนให้ทุนทางวัฒนธรรม เป็นองคาพยพในการพัฒนาพื้นที่ จะนำมาซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนในหลากหลายมิติ การจัด “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ใน 4 ภูมิภาค ขึ้น เพื่อให้ชุมชน ศิลปินพื้นบ้าน ช่างฝีมือท้องถิ่น ผู้ประกอบการวัฒนธรรม ภาคีเครือข่ายและมหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่จากฐานทุนทางวัฒนธรรม ได้จัดแสดงและเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ อันเป็นผลผลิตจากงานวิจัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมเปิดตัว Cultural Map Thailand และตัวอย่าง Cultural Metaverse Thailand ที่ 48 โครงการวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ขับเคลื่อนและประสานงานโครงการ

ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ กล่าวว่า โครงสร้างของภาคใต้จะมีการทำงานร่วมกันในเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่างประกอบด้วย จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา หากพูดถึงประเทศไทย เราสามารถมองภาคใต้ได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์ ผสมผสานด้วยวัฒนธรรม เนื่องจากบางจังหวัดในภาคใต้เป็นเมืองท่า ซึ่งเราอาศัยอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจเคารพกันในความสวยงามของแต่ละวัฒนธรรมโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างในการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นการทำงานเชิงวัฒนธรรมเราสามารถนำจุดแข็งนี้มามีส่วนร่วมและมีเสรีภาพในการแสดงอัตลักษณ์ของตัวเอง ปฏิบัติในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและศรัทธา อีกทั้งยังมีความสวยงามในสถาปัตยกรรมที่สืบทอดรุ่นสู่รุ่น

โดยงาน Eat Pray Love ณ ใจกลางเมืองหาดใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดขึ้น 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและคนในชุมชน ทั้งชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวมุสลิม ชาวไทยพุทธ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม ทั้งการจัดแสดงศิลปะ วัฒนธรรมต่าง ๆ การแสดงผลงานเด่น ๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยเครือข่าย ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มหาวิทยาลัยฯได้เข้าไปร่วมส่งเสริม รวมถึงมีความหลากหลายของอาหาร ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม ประกอบด้วย อาหารไทย อาหารจีน อาหารปากีสถาน ฯลฯ

ทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความภูมิใจ เกิดความรับรู้ระดับโลกได้ ทำให้ชาวโลกเห็นว่าประเทศไทยเที่ยวได้ทุกวันทุกที่ โดยได้ทำฐานข้อมูลเชื่อมต่อกับ บพท. เพื่อทำเป็น mapping ระดับประเทศ และเชื่อว่าความร่วมมือนี้ มหาวิทยาลัยไทยเกือบ 200 แห่งจะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเสริม ทำให้พันธกิจที่ 4 เรื่องการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ได้ออกสู่ภาคปฏิบัติ การสร้างคุณค่า และการสร้างแรงบันดาลใจต่อไป”

งาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่ การพัฒนาพื้นที่” ในแต่ละภูมิภาคจะมีไฮไลท์และรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไปตามมนต์เสน่ห์ของทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยมีกำหนดการจัดงาน ได้แก่

  • ภาคใต้ วันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566

บริเวณ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

  • ภาคเหนือ วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2566

บริเวณอาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4)

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 10-12 มีนาคม 2566

บริเวณถนนคนเดิน เลียบแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี

  • ภาคกลาง วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2566

บริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถ.เยาวราช กรุงเทพฯ

ขอบคุณข้อมูล : ฟื้นใจเมือง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *