สสส. ร่วมกับ ศวส.และภาคีเครือข่าย เปิดตัวหนังสือ “สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” ชี้ ประเด็นคุมเข้มห้ามโฆษณา สกัดการตลาดน้ำเมา ควบคุมราคาซื้อ-ขาย เป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพสูง

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสัมมนาวิชาการ เปิดตัวหนังสือ “สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไทยและทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนป้องกันผลกระทบเชิงลบ ที่อาจเกิดขึ้นในสังคม หลังพบความพยายามเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีเจตนาสร้างค่านิยมส่งเสริมการดื่ม และทำให้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ ขณะที่การศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ปี 2564 พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 165,450 ล้านบาท และเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สร้างความสูญเสียกับประเทศในวงกว้าง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย กระตุ้นเตือนให้สังคมเห็นอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านจุดเน้น 3 ข้อ 1.พัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย 2.พัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิชาการและจัดการความรู้ 3.พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมหรือการทำงานใหม่ ด้วยวิธีการรณรงค์ผ่านช่องทางต่างๆ หนังสือสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา ฉบับภาษาไทย จะเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้ ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้รู้เท่าทันการตลาด และเบื้องหลังพิษภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายแง่มุม เพื่อสร้างสังคมสุขสร้างสรรค์ และมีสุขภาวะที่ดีทุกมิติ

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผอ.แผนงาน ศวส. กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับอนุญาตจากผู้นิพนธ์ในการแปลและจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทย มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายนโยบาย สร้างความเข้มแข็งให้ผู้กำหนดนโยบาย และช่วยนำเอางานวิจัยที่มีอยู่มาพัฒนานโยบายสาธารณะได้ต่อไป เนื้อหาในหนังสือ มี 5 ส่วน 1.ทำไมสุราจึงไม่ควรจัดให้เป็นสินค้าธรรมดา 2. พัฒนาการของธุรกิจแอลกอฮอล์ 3.ทบทวนหลักฐานสนับสนุนแนวทางนโยบายแอลกอฮอล์ 7 รูปแบบ ได้แก่ มาตรการกำหนดราคาและภาษี, การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การจำกัดกิจกรรมการตลาด, ยุทธศาสตร์ด้านการให้ความรู้และการโน้มน้าวใจ, มาตรการด้านการดื่มแล้วขับ, การเปลี่ยนบริบทของการดื่ม, การบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก (early intervention) 4.ปัญหาท้าทายของการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ 5.ด้านมืดและด้านสว่างของนโยบายแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติ ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ “คณะผู้แปลหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะจุดประกายให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของการออกนโยบายด้านแอลกอฮอล์ ที่อ้างอิงตามหลักฐานทางวิชาการ และร่วมกันสนับสนุนการวางนโยบายให้มีความเหมาะสมกับบริบทของไทยต่อไป”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *