กรมควบคุมโรค เตือนสถานการณ์โควิด 19 เป็นขาขี้น ยังไม่ผ่อนมาตรการป้องกันโรค เร่งฉีดวัคซีนคู่ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 เพื่อลดป่วยหนักและเสียชีวิต

กรมควบคุมโรค เตือนสถานการณ์โควิด 19 เป็นขาขี้น ยังไม่ผ่อนมาตรการป้องกันโรค  เร่งฉีดวัคซีนคู่ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด 19 เพื่อลดป่วยหนักและเสียชีวิต

        เมื่อวันที่ (15 พฤษภาคม 2566) ที่ผ่านมา นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องภายหลังเทศกาลสงกรานต์ สัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 2,356 ราย เฉลี่ยวันละ 336 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 39% เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักแพทย์วินิจฉัยปอดอักเสบ และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ เพิ่มขึ้นประมาณ 45%  ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยมากกว่าครึ่ง (55%) เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ที่เหลือเป็นผู้ที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 ลดลงมาก ได้แก่ ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มล่าสุด หรือติดเชื้อแล้วนานเกิน 6 เดือน ขอแนะนำประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักจากทั้ง 2 โรค และเน้นย้ำหากป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ    ให้ตรวจ ATK รวมทั้งหลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 เมื่อตรวจพบผลบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากาก และสังเกตอาการ หากมีอาการมากให้ไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้ไปรับบริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลภาครัฐสังกัดอื่น ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมี ยา เวชภัณฑ์สำรอง และเตียงเพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรง 

         นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลก ประกาศสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ กรณีโรคโควิด 19 แต่ยังเตือนให้ทุกประเทศยังคงต้องเฝ้าระวัง และป้องกันควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งรัด การฉีดวัคซีนเพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 เพียงพอในระดับบุคคลและประชากร เพื่อลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด 19 โดยสามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ ฉีดปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ให้เว้นระยะห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน ที่สำคัญสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง และในสัปดาห์นี้โรงเรียนมีการเปิดภาคเรียน ขอให้ผู้ปกครองและครูสังเกตอาการ คัดกรองเด็กป่วยด้วยอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ให้หยุดอยู่บ้านรักษาให้หายก่อน จะลดโอกาสแพร่เชื้อในโรงเรียน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข้อมูล : กรมควบคุมโรค

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *