กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมของประเทศไทยตั้งแต่ 1 ม.ค.-14 มิ.ย.2566 จำนวนผู้ป่วยสะสม 21,457 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ประจำสัปดาห์(ระยะเวลา 7 วัน ) 1,954 าย และเสียชีวิตสะสม 19 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับคือ ตราด น่าน แม่ฮ่องสอน จันทบุรีและสตูล ส่วนจังหวัดสงขลามีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 มิ.ย.2566 จำนวน 1,256 ราย เสียชีวิต 2 ราย มีแนวโน้มเจอผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น
ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่โดยยุงลายเป็นพาหะ อาการของไข้เลือดออกคือไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นจุดแดงตามร่างกาย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการเพลีย ซึม ปัสสาวะออกน้อย ปวดท้องบริเวณชายโครง หรืออาจมีเลือดออกผิดปกติ ถ้าอาการรุนแรงมากมีโอกาสเสียชีวิตได้
นพ.อิฐถผล เอี้ยววงษ์เจริญ นายแพทย์ชำนาญการ ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดสงขลารุนแรงขึ้นจากเจอผู้ป่วยรายใหม่สัปดาห์ละประมาณ 5-10 กว่ารายเป็น 50-60 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กถึงวัยเรียน และกลุ่มอาชีพรับจ้าง แนวโน้มผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงขึ้นสัมพันธ์กับปริมาณฝนที่มากขึ้น นพ.อิฐถผลย้ำประเด็นสำคัญเพื่อลดการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกซึ่งสอดคล้องกับการรณรงค์เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน 15 มิถุนายน 2566 “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก”ว่า หากมีไข้สูงลอยต่อเนื่องเกิน 1 วันต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย อย่ากินยาแก้ไข้กลุ่ม NSAID เช่น แอสไพริน ไอบูโพเฟน ไดโคลฟีแนค เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกมากขึ้น หากมีไข้กินพาราเซตามอล และถ้ามีไข้สูงลอยไม่ลดแนะนำให้ไปพบแพทย์ดีที่สุด