มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ International Peace Foundation (IPF) และการสนับสนุนของ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด โรงแรมดุสิตธานี แอนด์รีสอร์ท ธนาคารกสิกรไทย และ บีเอ็มดับเบิลยู เปิดปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ Dr. Sir Richard J. Roberts ในหัวข้อ “เผยแพร่สันติภาพผ่านวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” (Spreading Peace through Science and Commerce in Emerging Economies) ภายใต้กิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน และในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงาน Mr. Uwe Morawetz, Founding Chairman of International Peace Foundation กล่าวรายงาน ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ. ดร.อมรรัตน์ พงศ์ดารา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ร่วมกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร นักศึกษา และนักเรียนในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 15 พ.ย. 66
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงกิจกรรมระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 55 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัยในปีนี้ นั่นคือการจัดปาฐกถาพิเศษ โดยนักวิชาการรางวัลโนเบล ในด้านวิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จำนวน 5 ท่าน ซึ่งนับเป็นการนำเรื่องราวในระดับโลกมาเป็นกิจกรรมในวาระพิเศษนี้ โดยการประสานงานกับมูลนิธิ International Peace Foundation (IPF) ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบล และทำการสนับสนุนสถาบันทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติและระดับนานาชาติ ให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดปาฐกถาพิเศษ จะมีขึ้นในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567 โดยมีคณะต่างๆ หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพโดยครั้งแรกจะเริ่มในวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งมีคณะเทคนิคการแพทย์เป็นเจ้าภาพ โดยเชิญ Dr. Sir Richard J. Roberts ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ มาปาฐกถาในหัวข้อ Spreading peace through science and commerce in emerging economies ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ส่วนครั้งต่อไปจัดในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 โดย Prof. Takaaki Kajita ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จะมาปาฐกถาหัวข้อ The importance of science for peace-building มีคณะวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ที่ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร คณะวิทยาศาสตร์
ในการปาฐกถาแต่ละครั้ง แม้การบรรยายจะเป็นภาษาอังกฤษแต่จะไม่มีการใช้ศัพท์ทางเทคนิคที่ยากทำให้ฟังแล้วเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากหลักคิดของ IPF คือมุ่งเชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่สามารถส่งต่อความรู้ให้กับคนทั่วไปฟังเข้าใจ เพื่อการสร้างให้ผู้ฟังเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ฟัง ที่นอกจากเป็นคณาจารย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแล้วยังมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียนสายวิทยาศาสตร์มาร่วมรับฟังด้วย
ปาฐกถาในครั้งนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้รับเกียรติจากนักวิชาการระดับโลกที่ได้รับรางวัลโนเบลในหลากหลายสาขามาร่วมบรรยาย ร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เภสัชศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่ให้แก่ครูอาจารย์ นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับองค์ความรู้ สนับสนุนทางวิชาการเพื่อนำไปต่อสู่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ เสริมสร้างนักวิทยศาสตร์หน้าใหม่ของไทยสู่ระดับสากลต่อไปในอนาคต และตอกย้ำถึงความเป็นนานาชาติและการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมฐานความรู้ให้กับทุกคน
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคใต้และประเทศ ทั้งในด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม การบริการวิชาการ และการดูแลสุขภาพ ซึ่งกิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และผู้เข้าร่วมงานทุกคน สู่การยกระดับชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้น
ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้นำในด้านวิชาการและนวัตกรรมทั้งในภาคใต้และระดับประเทศ โดยกิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES Event Series นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2566 แล้ว ยังเป็นการสร้างการรับรู้แก่เครือข่ายการวิจัย และเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาสังคมที่ดีขึ้น
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลจำนวน 5 ท่าน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 โดยมีคณะต่าง ๆ ร่วมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งกำหนดจัดอีกครั้ง ดังนี้
คณะวิทยาศาสตร์ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. หัวข้อ The importance of science for peace-building โดย Prof. Takaaki Kajita ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ณ ห้องประชุม L1 ศูนย์ปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร คณะวิทยาศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ วันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. หัวข้อ Personalized medicine revolution : Are we going to cure all diseases and at what price? โดย Prof. Aaron Ciechanover ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์
คณะเศรษฐศาสตร์ วันที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 14.00 น. หัวข้อ The prospects for global financial stability โดย Prof. Robert F. Engle III ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ห้อง Conference Hall ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ม.อ.
คณะแพทยศาสตร์ วันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 15.00 น. หัวข้อ The role of basic science in biotechnology โดย Prof. Randy W.Schekman ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ณ ห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์