ศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.สงขลานครินทร์ อดีตนักเรียนทุนวิทยาศาสตร์ที่ชอบเรียนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เลือกเรียนสาขาวิศวกรรมเคมีเพราะไม่ต้องการทิ้งศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งที่ชอบ และต่อปริญญาเอกเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพสนใจการใช้จุลินทรีย์เพื่อจัดการของเสียหรือวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานปาล์มซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ ความสนใจและความเชี่ยวชาญของอาจารย์เบญจมาสกลายเป็นงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งจากโรงงานปาล์มซึ่งยังมีสารอาหารที่สามารถเลี้ยงจุลินทรีย์ได้ โดยแต่เดิมอาจใช้ประโยชน์เพียงแค่การทำไบโอแก๊ส อาจารย์เบญจมาสใช้น้ำทิ้งจากโรงงานเลี้ยงยีสต์ไขมันสูงแล้วนำยีสต์ไปสกัดน้ำมันไบโอดีเซล หลังจากนั้นได้เกิดการใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งเพื่อเลี้ยงยีสต์ไขมันกันอย่างแพร่หลาย ขั้นตอนการใช้จุลินทรีย์ไขมันสูงจัดการสิ่งเหลือทิ้งจากโรงงานจนได้น้ำมันไบโอดีเซลเกิดจากโรงงานปาล์ม ยาง หรือโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ต้องการใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งซึ่งผ่านกระบวนการบำบัด อาจารย์เลยตั้งสมมติฐานว่าน้ำทิ้งเหล่านั้นยังประกอบด้วยสารอาหารที่เลี้ยงจุลินทรีย์ประเภทอื่นที่ผลิตพลังงานชีวภาพแบบอื่นบ้างได้หรือไม่ ประกอบกับช่วงนั้นไบโอดีเซลกำลังเป็นที่สนใจ แต่ไบโอดีเซลมาจากน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นพืชอาหาร ถ้าหากมีตัวเลือกอื่นทำไบโอดีเซลได้ก็จะลดปัญหาการแย่งใช้ปาล์มน้ำมันเป็นพลังงาน ขั้นตอนการวิจัยเริ่มจากทดลองเลี้ยงยีสต์ไขมันสูงในน้ำทิ้งโรงงานปาล์มซึ่งเป็นยีสต์ที่เติบโตด้วยการสะสมไขมัน และได้บำบัดน้ำทิ้งไปในตัว จนกระบวนการสุดท้ายคือนำยีสต์มาสกัดน้ำมันไบโอดีเซล แต่กระบวนการของการใช้ยีสต์ไขมันสูงบำบัดน้ำทิ้งยังไม่จบ เพราะยังเกิดไนโตรเจนและฟอสฟอรัส
อาจารย์เบญจมาสจึงใช้สาหร่ายจัดการกับไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและตรึงคาร์บอนไดออกไซด์ ยังเหลือวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานปาล์มที่เป็นโจทย์คือกากปาล์มซึ่งยีสต์ไม่สามารถย่อยเส้นใยปาล์ม อาจารย์เบญจมาสจึงทดลองใช้เชื้อราช่วยจัดการย่อยกองวัสดุและได้ไบโอดีเซลเหมือนกัน สรุปคืองานวิจัยของอาจารย์เบญจมาสใช้จุลินทรีย์ทั้งเชื้อรา ยีสต์ สาหร่ายช่วยจัดการวัสดุและน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมปาล์มจนได้ไบโอดีเซลในที่สุด หลังจากงานวิจัยนี้สำเร็จอาจารย์เบญจมาสกล่าวว่าขั้นตอนต่อไปคือนำงานวิจัยไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม โดยขอทุนสนับสนุนให้นักวิจัยทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ให้งานวิจัยใช้ประโยชน์ได้จริงและนับว่างานวิจัยชิ้นนี้สนับสนุนให้เกิด curcular economy ในโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย
ศ.ดร.เบญจมาส เชียรศิลป์ ได้รับรางวัลสูงสุดของนักวิจัยไทยคือ “รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567” สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา และเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ คนที่ 9 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์