สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน(กขป.)เขต 12 และมูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SCCCRN) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนเมืองต่อภาวะโลกเดือด” เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมเบญจพร แกรนด์ วิว จังหวัดสงขลา
ตามที่ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้รับการอนุมัติทุนจาก European Union (EU) ให้ดำเนินโครงการ “ประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง” หรือโครงการ SUCCESS โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มูลนิธิชุมชนสงขลา ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการปีที่ 5 (ปีสุดท้าย) สำหรับกิจกรรมหลักในช่วงที่ผ่านมา คือ การดำเนินโครงการนำร่องใน 2 ภูมิภาค ได้แก่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภาพรวมของการดำเนินโครงการนำร่องในภาคใต้นั้น มีทั้งสิ้น 4 โครงการนำร่อง ประกอบไปด้วย 6 พื้นที่ศึกษา ได้แก่ เมืองควนลัง เมืองพะตง เมืองบ่อยาง เมืองปาดังเบซาร์ เมืองโตนดด้วน และเมืองละงู ซึ่งการดำเนินโครงการนำร่องนี้ เป็นการดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อปรับปรุงกลไกและแนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติรวมถึงปัญหาทางด้านน้ำ โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ซึ่งทั้ง 4 โครงการนำร่องนี้ได้ดำเนินเสร็จสิ้นแล้ว
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับ มูลนิธิชุมชนสงขลา (SCF) ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน(กขป.)เขต 12 และมูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SCCCRN) จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เมือง(ไม่)รู้ร้อนรู้หนาว ภาคใต้ เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนเมืองต่อภาวะโลกเดือด” ขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเมืองได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับ บทเรียนที่ได้จากการดำเนินโครงการ ข้อค้นพบที่สำคัญ ผลลัพธ์ และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการเตรียมพร้อมของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแต่ละเมือง เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการปรับตัวและเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเปราะบางของคนและชุมชน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมือง การใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่คำนึงถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน และเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนยากจน กลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มผุ้หญิง ได้อย่างแท้จริง
อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมระดมความคิดเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่การปรับแผนการพัฒนาเมืองของหน่วยต่างๆ อาทิ หน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ หรือ ภาคประชาสังคม ฯลฯ ให้มีความครอบคลุม เหมาะสม และสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงเมืองและให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการประชุมครั้งนี้ยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างองค์ความรู้ใหม่ พัฒนาความเข้าใจและทักษะต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมของเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย