คณะทรัพย์ ม.อ. ปรับหลักสูตรรองรับการทำธุรกิจเกษตร เพิ่มองค์ความรู้เรื่องการจัดการและส่งฝึกงานต่างประเทศ

PSU All

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความจำเป็นที่เกษตรกรจะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้รับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและในอนาคต โดยต้องเปลี่ยนหลักคิดจากเพาะปลูกอย่างเดียวมาเป็นการทำธุรกิจเกษตร การทำเกษตรแบบประณีต มีการจัดการและกำหนดคุณภาพผลผลิตได้ และทำการขายผ่านอีคอมเมอร์ส จึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งในปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้บุตรหลานเรียนทางด้านเกษตรกรรม เพราะจะไม่มีฐานะร่ำรวย แต่โดยความเป็นจริงแล้วเป็นเพราะเราไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ และไม่ได้ทำเพราะรักชอบในอาชีพ ส่วนใหญ่จะดำเนินชีวิตและอาชีพตามแนวที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ ในขณะที่เทคโนโลยีปัจจุบันและนวัตกรรมได้เปลี่ยนวิธีการทำเกษตรให้ง่ายขึ้นแล้ว


คณะทรัพยากรธรรมชาติ จึงได้เปลี่ยนแนวในการสร้างหลักสูตร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเน้นการทำธุรกิจควบคู่กับความรู้ด้านการเกษตร มีการปรับโครงสร้างหลักสูตรของคณะ โดยจะมีการเรียนการสอนใน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ สาขาวิชาวาริชศาสตร์ และ สาขาวิชานวัตกรรมการเกษตรและการจัดการ ซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่รวมสาขากีฏวิทยาและโรคพืช สาขาปฐพีวิทยา สาขาพืชศาสตร์ และสาขาพัฒนาการเกษตรเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้นักศึกษาที่จะไปเป็นเกษตรกรในอนาคต มีความรู้เรื่องการจัดการ มีการวางแผนเรื่องการปลูก การดูแล การตลาด ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพ

นอกจากนั้น ยังได้มีการพัฒนาการให้ความรู้นักศึกษา เพื่อเปลี่ยนแนวคิดของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าเรียนเกษตรจบแล้วต้องเข้าไปทำสวนทำไร่ในประเทศเท่านั้น โดยจัดส่งนักศึกษาส่วนหนึ่งไปร่วมโครงการสหกิจศึกษาที่ต่างประเทศ เช่นประเทศญี่ปุ่น เพื่อฝึกงานเป็นเวลา 4-6 เดือน  โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน ซึ่งเป็นอีกโอกาสหนึ่งของผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนด้านการเกษตรเพราะ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความจำเป็นต้องบริโภคอาหาร และขาดแคลนแรงงาน ได้มีการออกกฎหมาย เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความรู้ด้านเกษตรกรรมเข้าไปทำงานในประเทศได้ ซึ่งการไปหาองค์ความรู้เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม หรือการไปทำการเกษตรแบบประณีตที่ญี่ปุ่นหรือไต้หวัน จะสามารถทำเงินได้จำนวนมาก เป็นทุนสำหรับสร้างเนื้อสร้างตัวกลับมาพัฒนาพื้นที่และอาชีพเกษตรของตนเองในประเทศไทยต่อไป

นอกจากการให้ความรู้กับนักศึกษาแล้ว คณะทรัพยากรธรรมชาติ ยังได้มีความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เพื่ออบรมเปลี่ยนทัศนคติ ปรับแนวคิดสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เกษตรกรในภาคใต้ ให้มีการแสวงหาองค์ความรู้มีการจัดการเพื่อให้มีรายได้ มีความสุข มีความสำเร็จในชีวิต ได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นหลายมหาวิทยาลัย และจัดส่งกลุ่มเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าในตลาดเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ ไปฝึกงาน ศึกษาการใช้ชีวิตและการทำงาน และอาศัยร่วมกับเกษตรกรญี่ปุ่นที่มิยาซากิ ทำให้ได้หลักคิดเพื่อมาปรับวิธีการทำงานของตนเอง  เป็นการสร้างคนเพื่อการทำงาน

“ในโลกนี้ ไม่ว่าเทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนไปอย่างไร มนุษย์ก็ต้องบริโภคอาหารอยู่ดี เพียงแต่ผู้บริโภคจะฉลาดขึ้น เขาจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับเขา จะต้องหาข้อมูลสิ่งที่จะบริโภค ไม่บริโภคของไม่ดีไม่มีคุณภาพ เกษตรกรจึงต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับผลผลิตของตน ว่าดีต่อสุขภาพและมีคุณภาพอย่างไร เหมาะสำหรับใคร เพื่อจะได้ปรับปรุงผลผลิตให้เหมาะกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ที่สำคัญคือต้องบอกได้ว่าสินค้าเกษตรของตนต่างจากของคนอื่นอย่างไร” คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าว