รวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคเอ็มพอกซ์ (ฝีดาษวานร) หลังองค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉิน

วานนี้ (21 ส.ค.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีพบผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์ (Mpox หรือ ฝีดาษวานร) และเข้าข่ายเป็นสายพันธุ์ clade 1b จากผู้ป่วยชาวยุโรป ซึ่งเดินทางมาประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา และมีประวัติเดินทางจากทวีปแอฟริกา ขณะนี้กำลังตรวจสอบสายพันธุ์อย่างแน่ชัด และติดตามอาการผู้ร่วมเดินทางบนเครื่องบินจำนวน 43 คน เป็นเวลา 21 วัน 

องค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) ประกาศให้สถานการณ์ระบาดของโรคเอ็มพอกซ์เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก (PHEIC) เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา หลังกลับมาพบการระบาดเพิ่มขึ้นอีกครั้งจากปี 2022 ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและแพร่กระจายไปสู่ประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา เช่น รวันดา ยูกันดา เคนยา โกตดิวัวร์ 

พญ.ปิยนุช บุรณพร แพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลกับ ‘PSU Broadcast’ ในรายการแลบ้าน แลเมือง ถึงข้อมูลของโรคและการเฝ้าระวังเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน 

การรักษาผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์ในทวีปแอฟริกา/ ภาพ: WHO

โรคเอ็มพอกซ์คืออะไร

โรคเอ็มพอกซ์ (Mpox หรือ ฝีดาษวานร) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มไข้ฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ เดิมแพร่ในสัตว์จำพวกลิง และ สัตว์กัดแทะ เช่น กระต่ายหรือกระรอก เริ่มมีการติดเชื้อสู่คน และหลังจากนั้นมีการพัฒนาติดเชื้อจากคนสู่คน 

รายงานจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่าพบการระบาดในคนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 หรือ พ.ศ. 2513 ในประเทศคองโก และเคยประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกในปี 2022 ก่อนจะประกาศยกเลิกในเดือนพฤษภาคม 2023 หลังการแพร่ระบาดลดลง 

เอ็มพอกซ์มีสายพันธุ์อะไรบ้าง 

ปัจจุบัน โรคเอ็มพอกซ์ตรวจพบ 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่  clade 1 (เคลด 1), clade 2a, และ clade 2b สายพันธุ์ที่พบการระบาดในทวีปแอฟริกาในปัจจุบันคือ clade 1 ที่มีอาการร้ายแร้งกว่า clade 2

พญ.ปิยนุชเผยว่า อัตราการเสียชีวิตของ clade 1 จะอยู่ที่ร้อยละ 10 ขณะที่ clade 2 จะพบอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 1 ในกลุ่มคนที่มีภูมิต้านทานระดับปกติและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยก่อนหน้า คือสายพันธุ์ clade 2 

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังจากการมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้กำลังตั้งครรภ์ซึ่งอาจแพร่เชื้อให้ทารกในครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วย HIV ผู้ป่วยรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

อาการของโรคเอ็มพอกซ์เป็นอย่างไร

อาการในระยะการรับเชื้อไวรัสตั้งแต่วันที่ 0-5 คือ มีไข้ ปวดศรีษะ และเจ็บคอ หลังจากนั้นมีอาการเป็นผื่น คล้ายฝีดาษ และเป็นตุ่มตามผิวหนัง ในช่วงแรกอาจมีตุ่มมีน้ำและอาจแตกออกเป็นน้ำหรือตกสะเก็ด

ระยะแพร่เชื้ออยู่ที่ 21 วัน และช่วงที่โอกาสแพร่เชื้อมากที่สุดคือ ช่วงมีผื่น ตุ่มน้ำ หรือการตกสะเก็ด 

เชื้อเอ็มพอกซ์แพร่อย่างไร และวิธีป้องกันเบื้องต้น

การสัมผัสเชื้อเบื้องต้นอาจเกิดจากการไอจาม หายใจรด และการสัมผัสตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่งโดยตรงจะเกิดการรับเชื้อได้ง่ายกว่าผ่านทางเดินหายใจ 

พญ.ปิยนุชเผยว่า เชื้อไวรัสอยู่ในพื้นผิวสัมผัสของสิ่งแวดล้อมได้ไม่นาน ป้องกันได้ด้วยสุขอนามัยเบื้องต้น เช่น การล้างมือด้วยสบู่ หรือไม่สัมผัสกับสารคัดหลั่งผู้ป่วยบริเวณสัมผัสแผลหรือเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย 

วัคซีนป้องกันโรคเอ็มพอกซ์มีให้บริการที่สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร โดยต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม พญ.ปิยนุชชี้ว่าไม่มีคำแนะนำให้ฉีดทุกคน ยกเว้น กลุ่มเสี่ยงหรือผู้ต้องเดินทางไปในพื้นที่ระบาด 

องค์การอนามัยโลกแถลงในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ยืนยันว่าโรคเอ็มพอกซ์จะไม่กลายเป็นโรคอุบัติใหม่ทั่วโลกอย่างโควิด-19 เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรู้วิธีป้องกันและรับมือกับโรค พร้อมแจงว่าจะดำเนินการให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงและระบาดหนักเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเพียงพอ

แหล่งข้อข้อมูลประกอบ

THAI PBS | https://www.thaipbs.or.th/news/content/343319
WHO | https://www.who.int/news/item/14-08-2024-who-director-general-declares-mpox-outbreak-a-public-health-emergency-of-international-concern
BBC | https://www.bbc.com/news/articles/cvg34y37jqgo

เรื่อง: ทีมข่าวแลบ้าน แลเมือง
ภาพหน้าปก: WHO

อ่านต่อ

ตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง นำร่อง สงขลา 4 อำเภอ ลงทะเบียนรับชุดตรวจผ่านแอพฯ ‘เป๋าตัง’

การดูแลสุขภาพในช่วงถือศีลอด “เดือนรอมฎอน”

Kitchen Therapy สุขภาพจิตดีเพราะครัวบำบัด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *