เอกรินทร์ ต่วนศิริ: มองรัฐบาล ‘แพทองธาร’ ถึงคราวภาคใต้เปลี่ยนผ่านทางการเมือง?

“ถ้าอธิบายภาคใต้ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแนวคิดทางการเมือง และกำลังหาตัวแทนที่เป็นเสียงของตัวเอง”

หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  วันที่ 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎรเลือก คุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย จากผลโหวตเห็นชอบ 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง และไม่มาลงคะแนน 2 เสียง 

จากสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมด 60 เขตเลือกตั้งของ 14 จังหวัดภาคใต้ โหวตเห็นชอบคุณแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีถึงร้อยละ 67% ซึ่งมาจากพรรคร่วมรัฐบาล และ 33% หรือ 20 เสียง โหวตงดออกเสียง 17 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ และ 3 เสียงจากพรรคประชาชน 

เดิมพื้นที่ซึ่งเคยเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงตัวชัดว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย หรือตระกูล ‘ชินวัตร’ ปรากฎการณ์นี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างการโหวตของผู้แทนราษฎรและค่านิยม หรือ อุดมการณ์ทางการเมืองในพื้นที่มากขนาดไหน

‘PSU Broadcast’ พูดคุยกับ ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ย้อนมองถึงนัยยะสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล ถึงปรากฎการณ์ทางการเมืองและสังคมที่กำลังเกิดขึ้น

บทบาทศาลรัฐธรรมนูญ รุกล้ำฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ?

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลจากต้นเหตุเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ การถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งด้วยประเด็นเชิงจริยธรรมการดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากกรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ซึ่งเคยมีคดีความใส่เงิน 2 ล้านบาทให้เจ้าหน้าที่ศาล 

อ.เอกรินทร์มองว่า จากหลักการระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีอำนาจ 3 อำนาจได้แก่ ตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหาร นั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการใช้ขอบเขตอำนาจฝ่ายตุลาการรุกล้ำฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร พร้อมชี้ว่าการยุบพรรคการเมืองควรเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และควรเข้มงวดและมีกรณีตัวอย่างเด่นชัด เช่น การยุบพรรคการเมืองในประเทศเยอรมนีซึ่งสนับสนุนแนวคิดหรือนโยบายของฮิตเลอร์ เป็นต้น 

“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากคณะรัฐประหาร (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ – คสช.) แต่ที่มาของพรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชน” อาจารย์จาก ม.อ. ปัตตานีกล่าว 

ส่วนกรณีการถอดถอนนายเศรษฐานั้น อ.เอกรินทร์มองว่าคำวินิจฉัยไม่มีความได้สัดส่วนของการกระทำและโทษ และมองว่าการยกประเด็นจริยธรรมขึ้นมาตัดสินนั้นเป็นประเด็นที่ตีความได้กว้าง

แนวโน้มนโยบายเรือธง เจรจาสันติภาพชายแดนใต้

หนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งคือ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งล่าสุดมีคนลงทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ จำนวน 25 ล้านคนนั้น อ.เอกรินทร์มองว่ามีแนวโน้มการลดขนาดของการดำเนินนโยบาย เพราะความเสี่ยงด้านการใช้เงินงบประมาณ รวมถึงการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลที่มากขึ้นจากปัจจัยทางการเมืองแวดล้อม

“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา นโยบายที่หาเสียงไว้ไม่ใช่ภารกิจของการจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นการสกัดก้าวไกล และไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศ” นักวิชาการรั้วม.อ.ปัตตานีตั้งข้อสังเกตจากมุมทางการเมือง

ในส่วนนโยบายที่เกี่ยวกับการเจรจาด้านสันติภาพชายแดนใต้ อ.เอกรินทร์มองว่าการดำเนินการเจรจาสันติภาพร่วมกับ BRN และทีมเจรจาจากประเทศมาเลเซีย ตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) ยังไม่มีความคืบหน้าจากเดิม เพราะเสถียรภาพทางการเมืองของไทย และการไม่มีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องความมั่นคง

“ภาคใต้ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นหลักอยู่แล้ว ถ้ามองว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลเศรษฐาก็ยังไม่สามารถผลักดันการท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ชายแดนใต้ได้จริง สอง กระบวนการสันติภาพก็ชะงักงัน ไม่มีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเข้ามาดูแล ห้กองทัพและฝ่ายความมั่นคงเข้ามาดูแลเป็นหลัก”

ภาคใต้ อุดมการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน?

จากสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งหมด 60 เขตเลือกตั้งของ 14 จังหวัดภาคใต้ โหวตเห็นชอบคุณแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีถึงร้อยละ 67% ซึ่งมาจากพรรคร่วมรัฐบาล และ 33% หรือ 20 เสียง โหวตงดออกเสียง 17 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ และ 3 เสียงจากพรรคประชาชน 

แผนภาพโดย เอกรินทร์ ต่วนศิริ

อ.เอกรินทร์ตั้งข้อสังเกตว่าการโหวตของผู้แทนราษฎรภาคใต้จะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในพื้นที่ได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ภาคใต้เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นหนึ่งในขั้วตรงข้ามของพรรคเพื่อไทย และ การแสดงออกต่อต้านทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“ถ้าอธิบายภาคใต้ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแนวคิดทางการเมือง และกำลังหาตัวแทนที่เป็นเสียงของตัวเอง การเลือกตั้ง ปี 2562 คนภาคใต้เลือก พล.อ. ประยุทธ์กันเยอะมาก แต่ปี 2566 ก็เริ่มกระจัดกระจาย ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกลที่ชนะทั้งเกาะภูเก็ต หรือบัญชีรายชื่อชนะรายจังหวัดเป็นส่วนใหญ่”

แต่ในส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสนั้น นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์มองว่า พรรคประชาชาติอาจยังได้รับความนิยมทางการเมือง เนื่องจากนโยบายการหาเสียงที่ยึดโยงกับอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์ รวมถึงการต่างตอบแทนกลุ่มก้อนทางการเมืองในพื้นที่ และความเป็นที่รู้จักของผู้แทนราษฎรในพื้นที่ 

“พรรคประชาชาติไม่ได้มีนโยบายเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง หรือสังคมใดๆ มีแต่มิติทางศาสนา ผมคิดว่า 3 จังหวัดยังไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคนยังยึดติดทางวัฒนธรรมและความคิดอยู่ เว้นแต่คนรุ่นใหม่ หรือ คนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกได้เลือกพรรคใหม่ๆ มากขึ้น”

อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ. ปัตตานีกล่าว พร้อมชวนให้เห็นว่าการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดและค่านิยมทางการเมืองของประชาชนภาคใต้

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ภาพ: แฟ้มภาพ/ ฉันทวัฒน์ แซ่หลี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *