‘ขนมไหว้พระจันทร์’ ร้านสุ่ยเฮง – สายสัมพันธ์ของผู้คนของเมืองหาดใหญ่

‘PSU Broadcast’ เก็บบรรยากาศจากงาน ‘The Story Behind Hatyai Moon Festival’ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ ร้าน Lorem Ipsum ถ.นิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ประกอบด้วยนิทรรศการจัดแสดงประวัติศาสตร์ร้านสุ่ยเฮง อุปกรณ์ทำขนมไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิม และ เวิร์กช็อปการทำขนมไหว้พระจันทร์ จัดโดย ร้านสุ่ยเฮง โรงจันอับ ร้านขนมเก่าแก่ประจำหาดใหญ่ ร่วมกับ Hatyai Connext  และ ร้าน Lunaray

วันไหว้พระจันทร์ในปี พ.ศ.2567 จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ  ตรงกับวันที่ 17 กันยายน ใน พ.ศ. 2567 เป็นเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วงของวัฒนธรรมจีนเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวด้วยการไหว้ดวงจันทร์เต็มดวงในเวลากลางคืน และทานขนมไหว้พระจันทร์ 

ขนมไหว้พระจันทร์ สื่อกลางระหว่างสายสัมพันธ์

ข้อมูลประกอบนิทรรศการกล่าวถึงความสำคัญของเทศกาลไหว้พระจันทร์ว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์นั้น แต่ละครอบครัวเชื้อสายจีนจะกลับมารวมตัวพร้อมหน้ากัน ไม่เพียงเฉพาะวันตรุษจีนหรือเชงเม้ง “แต่เทศกาลไหว้พระจันทร์มีความแตกต่างตรงที่ มิได้กลับมาเพื่อรวมตัวกันเพื่อระลึกถึงคนที่จากไป แต่เพื่อหาครอบครัวที่ยังอยู่” 

การทำขนมไหว้พระจันทร์ (เย่ว์ปิ่ง) มีลักษณะวงกลมรีและแบนเหมือนพระจันทร์เต็มดวง ไส้ขนมไหว้พระจันทร์มีทั้งเมล็ดบัว ถั่วแดง โหงวยิ้ง (ธัญพืช 5 ชนิด) หรือการปรับเปลี่ยนตามการผสมผสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิต (เช่น ในเวิร์กช็อปมีการใส่ไส้คัสตาร์ด) 

คุณบำรุงศักดิ์ อรัญญพงษ์ไพศาล ทายาทร้านขนม ‘สุ่ยเฮง’ รุ่นที่ 2 กล่าวว่าสูตรขนมไหว้พระจันทร์ของร้านสุ่ยเฮงนั้น ได้รับความช่วยเหลือทั้งสูตรขนมและอุปกรณ์จากร้าน ‘จั่น จั่น’ ซึ่งเป็นร้านขนมเปี๊ยะของชาวจีนอพยพจากกวางตุ้งที่เปิดก่อนร้านสุ่ยเฮงในหาดใหญ่ 

ในอดีตมีการใช้พิมพ์ไม้แบบดั้งเดิมเพื่อขึ้นรูปขนมไหว้พระจันทร์ วิธีการนี้ต้องนำแป้งเข้าพิมพ์ให้แน่น และเคาะด้วยแรงเพื่อให้ขนมออกจากพิมพ์และคงรูป-ลายได้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ร้านสุ่ยเฮงเปลี่ยนการขึ้นรูปแบบอื่นที่รวดเร็วและประหยัดเวลากว่าเดิม

เทศกาลไหว้พระจันทร์ หาดใหญ่ในความเปลี่ยนแปลง

คุณบำรุงศักดิ์กล่าวว่า บรรยากาศเทศกาลไหว้พระจันทร์ในหาดใหญ่สมัยก่อนนั้นมีความคึกคัก ด้วยคนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในหาดใหญ่ รวมถึงลูกหลานที่กลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนนั้น ได้ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์ด้วยการตั้งโต๊ะหมู่บูชา และ ประดับโคมไฟแสงสีหน้าบ้าน 

“ร้านที่ขายขนมไหว้พระจันทร์ในหาดใหญ่มี 4 ร้าน ร้านสุ่ยเฮงมีป้ายสามมิติเขียนว่า ‘ยินดีต้อนรับ’แต่ละร้านแข่งขันกันแย่งลูกค้า ต่างคนต่างไปมองๆ กัน ลูกค้าเยอะไหม ฯลฯ เพราะเราต้องรีบขาย ขายได้แค่สองวัน เราเตรียมมาเกือบเดือน ถ้าเหลือต้องมาขายเลหลัง” คุณบำรุงศักดิ์กล่าว

งานวิจัยโดย จุรีรัตน์ บัวแก้ว เมื่อปี พ.ศ. 2560 กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของการจัดพิธีไหว้พระจันทร์ของชาวไทยเชื้อสายจีนในหาดใหญ่ มีการย่อพิธีกรรมช่วงกลางคืนให้สั้นลงเพราะคนวัยทำงานในครอบครัวต้องทำงานตอนเช้า และลดของเซ่นไหว้ตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจและกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป

สายธาร ‘สุ่ยเฮง’ ร้านขนมคู่เมืองหาดใหญ่

จุดเริ่มต้นของร้านสุ่ยเฮง โรงจันอับ เริ่มต้นจากทายาทต้นตระกูลอรัญญพงษ์ไพศาลนาม ‘ซินไฮ้’ อพยพมาจากจังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง เดินทางมาตั้งตัวจากจันทบุรี จนลงเอยที่หาดใหญ่ด้วยการรับจ้างทำงานทั่วไป และพักอยู่ในบ้านเลขที่ 135 ถ.นิพัทธ์อุทิศ 1 ซึ่งเป็นร้าน Lorem Ipsum ในปัจจุบัน

หลังรับจ้างทำงาน ‘ซินไฮ้’ ได้เปิดร้านโชห่วยแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนมีคนแนะนำให้ทำขนมเปี๊ยะขายในหาดใหญ่ เนื่องจากความหนาแน่นของคนจีนโพ้นทะเล  จึงเปิดร้านขายขนมเปี๊ยะพร้อมครอบครัวจากเมืองจีน ณ บ้านเลขที่ 108 ถ.นิพัทธ์อุทิศ 3 ในบ้านเช่าของพระเสน่หามนตรี นายอำเภอหาดใหญ่คนแรก

ความนิยมของขนมร้านสุ่ยเฮงเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทั้งความต้องการรสหวานของขนมเปี๊ยะของลูกค้าโรงฝิ่นในสมัยที่ยังถูกกฎหมาย หรือ แรงงานจีนในสวนยางของภาคใต้ตอนล่าง-ตอนกลาง จนถึงการมีส่วนร่วมในสมาคมจีนในหาดใหญ่

ร้านสุ่ยเฮงได้เกิดการโยกย้ายในปี พ.ศ. 2505 เนื่องจากแผนปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ และนายซินไฮ้จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณถนนประชาธิปัตย์เพื่อขยายโรงผลิตขนมและเป็น ร้าน ‘สุ่ยเฮง โรงจันอับ’ ผ่านทายาทผู้รับสืบต่อกิจการเข้าสู่รุ่นที่ 4 จนถึงปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่าเรื่องราวเบื้องหลังของขนมไหว้พระจันทร์ ประกอบทั้งสายธารประวัติศาสตร์ของผู้คน ชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางมาตั้งรกราก สานสัมพันธ์กับการก่อร่างสร้างตัวให้เป็น ‘หาดใหญ่’ ในปัจจุบัน 

นิทรรศการ ‘The Story Behind Hatyai Moon Festival’ จัดแสดงที่ร้าน Lorem Ipsum ถ.นิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 14-22 กันยายน 2567 เวลา 10:00-17:00 น.

อ้างอิง
ข้อมูลจากนิทรรศการ ‘The Story Behind Hatyai Moon Festival’
งานวิจัย ‘การดำรงอยู่ของประเพณีไวห้พระจันทร์ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา’ โดย รศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Thai PBS| https://www.thaipbs.or.th/news/content/332072

เรื่อง: ธีรภัทร อรุณรัตน์ 
ภาพ: ภานุเทพ ปานหมี

อ่านต่อ

“วันไหว้พระจันทร์” เทศกาลสำคัญของคนเชื้อสายจีน

สำรวจ ตรุษจีน หาดใหญ่ ฟังเสียงวันที่เมืองกำลังผันแปร

สงขลาเจริญรส เปิดบ้านโรงงานซีอิ๊ว น้ำบูดู ชิมรสแป้งแดงจากปลากะพงสงขลา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *